head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรคความดันสูง ความดันโลหิตสูง (Hypertension)  (อ่าน 92 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 419
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรคความดันสูง ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
« เมื่อ: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 16:52:37 น. »
อาการของโรคความดันสูง ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

โรคความดันสูงมักไม่แสดงความผิดปกติ แต่บางรายอาจมีอาการหลังจากเป็นมานานโดยไม่รู้ตัวจนเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว โดยอาจพบอาการปวดศีรษะในตอนเช้า เลือดกำเดาไหล หัวใจเต้นผิดปกติ การมองเห็นเปลี่ยนแปลง หรือได้ยินเสียงในหู

นอกจากนี้ หากมีความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน สับสน วิตกกังวล เจ็บหน้าอก และกล้ามเนือสั่น (Muscle Tremors)

ทั้งนี้ อาการที่บ่งบอกของโรคความดันสูงในระยะแรกยังไม่มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงเป็นเรื่องยากในการวิเคราะห์โรคจากอาการที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยหลายรายที่ไม่ได้ตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจสุขภาพประจำปีไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคความดันสูง


การรักษาโรคความดันสูง ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมก่อนและค่อยให้ใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย โดยการรักษาจะพิจารณาตามต้นเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลจะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้ป่วย
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการรักษาโรคความดันโลหิต ผู้ป่วยอาจจะค่อย ๆ ปรับทีละน้อย เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจึงค่อยปรับให้มากขึ้นจนเป็นปกติ

ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมรับประทานอาหารลดความดันโลหิต-กินที่เคยชินบางอย่าง เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว และช่วยให้ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    จำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา ซึ่งเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร หากเตรียมอาหารเองควรลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมให้มีปริมาณน้อยลง หรือดูฉลากอาหารและเครื่องปรุงรสก่อนรับประทาน และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มักมีโซเดียมสูง

    เลือกประเภทอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ ควรเลือกรับประทานอาหารที่เน้นธัญพืช ผักและผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ปลา ควรหลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำมันปาล์ม อาหารและเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยน้ำตาล
    รับประทานอาหารต้านความดันสูงหรือ Dash Diet ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหัวใจ เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะเน้นผัก ผลไม้ และธัญพืช มีไขมันและเกลือต่ำ ผู้ป่วยหรือคนปกติก็สามารถรับประทานได้

ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยปรับระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงมากเกินไป และลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยให้ปรึกษาแพทย์ถึงประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัย และเลือกออกกำลังกายที่ออกแรงในระดับปานกลาง วันละ 30 นาที เช่น ว่ายน้ำและเดินเร็ว เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจให้มีการใช้งานออกซิเจนมากกว่าปกติ

ผู้ป่วยควรวัดความดันก่อนออกกำลังกาย หากความดันสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท ควรได้รับยาควบคุมความดันโลหิตก่อนออกกำลังกาย และผู้ที่มีความดันโลหิตขณะพักสูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท ให้หยุดออกกำลังกายแล้วรีบไปพบแพทย์

หากเกิดอาการผิดปกติขณะออกกำลังกาย เช่น เหนื่อยหอบจนไม่สามารถพูดได้ หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปก เวียนศีรษะ หน้ามืด เหงื่อออกมาก ตัวเย็นผิดปกติ แขนขาไม่มีแรง ควรหยุดออกกำลังกายทันที

ควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ เพราะจะช่วยให้การควบคุมความดันโลหิตทำได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพอื่นได้ 3–5% โดยปกติแล้วจะประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ได้จากค่า BMI โดยเอาน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ซึ่งค่าที่ได้ควรไม่เกิน 25

    ค่าที่ได้ต่ำกว่า 18.5 หรืออยู่ระหว่าง 18.5-24.9 แสดงว่ามีน้ำหนักตัวปกติ
    ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
    ค่าที่ได้มากกว่า 30 แสดงว่าเป็นโรคอ้วน

จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มสูงขึ้นของความดันโลหิตและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันในเลือดประเภทหนึ่ง และยังเป็นการเพิ่มแคลอรี่ที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน ดังนั้นควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน

ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วยมาตรฐานต่อวัน และผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 หน่วยมาตรฐานต่อวัน โดยค่าประมาณของ 1 หน่วยมาตรฐานเทียบเท่าได้กับเบียร์ 1 แก้วหรือ 285 มิลลิลิตร ไวน์ 1 แก้วเล็กหรือ 100 มิลลิลิตร และเหล้า 1 แก้วหรือ 30 มิลลิลิตร

พักผ่อนให้เพียงพอและจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
ระดับความดันโลหิตมักจะลดลงเมื่อนอนหลับ หากนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นได้ จึงควรกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงกันทุกวัน หลีกเลี่ยงการงีบหลับระหว่างวัน จัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอนหลับ และทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น และฟังเพลงสบาย ๆ จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ควรจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมด้วยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือระบายออกทางด้านอารมณ์และร่างกายในทางสร้างสรรค์ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง เล่นโยคะ นั่งสมาธิ หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสงบ ก็จะช่วยลดระดับความดันโลหิตได้


การใช้ยา

นอกเหนือจากการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย แพทย์อาจใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดระดับความดันโลหิตให้ลดลง ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคความดันสูงมีหลักการทำงานและออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน อาจเป็นการไปหยุดหรือลดกระบวนการทำงานของร่างกายในบางส่วน โดยจะใช้รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น

    ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นยาที่ส่งผลต่อการทำงานของไต โดยจะช่วยขับโซเดียมส่วนเกินและน้ำออกจากร่างกาย และลดความดันโลหิตลง ซึ่งยาชนิดนี้มักจะใช้ร่วมกับยาความดันสูงประเภทอื่นหรือเป็นยาชนิดรวมในหนึ่งเม็ด เช่น ยาไธอาไซด์ (Thiazide diuretics) ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาคลอร์ธาลิโดน (Chlorthalidone)
    ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการทำงานของแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตันและเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น เมื่อฮอร์โมนนี้ถูกยับยั้ง หลอดเลือดจึงไม่เกิดการตีบตันและหัวใจไม่ต้องทำงานหนักด้วยการเพิ่มแรงดันภายในหลอดเลือด เช่น ยาลิซิโนพริล (Lisinopril) ยาบีนาซีพริล (Benazepril) ยาแคปโตพริล (Captopril) 
    ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) เป็นยาที่ช่วยหลอดเลือดคลายตัว เช่น ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) และยาดิลไทอะเซม (Diltiazem)
    ยาในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers) ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและขยายหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้อย่างสะดวก เช่น ด็อกซาโซซิน (Doxazosin) และยาพราโซซิน (Prazosin)
    ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blockers) ทำให้หัวใจเต้นช้าและมีแรงต้านน้อยลง ส่งผลให้หัวใจบีบตัวในการส่งเลือดน้อยลง จึงช่วยในการลดความดันโลหิตลงได้ เช่น ยาคาวีไดออล (Carvedilol) และยาอะทีโนลอล (Atenolol)
    ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อช่วยระงับสารสื่อประสาทที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ซึ่งจะลดความดันโลหิตลง เช่น ยาโคลนิดีน (Clonidine) และเมทิลโดปา (Methyldopa)
    ยาในกลุ่มวาโสไดเลเตอร์ (Vasodilators) ออกฤทธิ์โดยตรงกับกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดและช่วยป้องกันการหดตัวของหลอดเลือดให้แคบลง เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) และยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)

สำหรับการใช้ยาเพื่อรักษาโรคความดันสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจต้องรับประทานยาต่อเนื่อง แต่บางรายที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และปรับลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ อาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาไปตลอด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงระยะเวลาในการใช้ยาที่เหมาะสม

ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงนั้น ๆ โดยแพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนปริมาณยาหรือเปลี่ยนยาชนิดใหม่ให้ทดแทน นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพราะความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้อยู่ในช่วงการใช้ยา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 3 ตุลาคม 2024, 16:56:41 น. โดย siritidaphon »