head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ทางเลือกการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด  (อ่าน 203 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 402
    • ดูรายละเอียด
ทางเลือกการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด
« เมื่อ: วันที่ 5 กันยายน 2024, 17:55:42 น. »
ทางเลือกการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด

โรคหัวใจเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิต โดยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน และถึงแม้ว่าโรคหัวใจจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงและทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่สามารถป้องกัน และรักษาได้ โดยแนวทางการรักษาโรคหัวใจนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก มีวิธีการรักษาต่างๆ ที่พร้อมช่วยรักษาผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติที่สุด


อาการนำสำคัญของโรคหัวใจที่ควรไปพบแพทย์

    เจ็บหน้าอกอย่างกะทันหัน และเป็นระยะเวลานาน
    มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก
    เจ็บหน้าอก และรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณหัวไหล่
    เจ็บหน้าอกหากทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
    มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
    มีอาการหอบเหนื่อยง่ายผิดปกติ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นขณะออกแรง เป็นขณะพัก ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
    อาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น


แนวทางรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด

แนวทางการรักษาโรคหัวใจในปัจจุบัน มีวิธีการรักษาหลายแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจด้วย มักประกอบด้วยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การใช้ยา และการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันแพทย์นิยมทำการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยมีวิธีดังนี้

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กำจัดความเครียด

2. การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น


3. การทำบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty) หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยาย รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน ซึ่งเป็นหัตถการการรักษาที่สามารถทำได้เลย ต่อจากการฉีดสีดูการตีบของเส้นเลือดหัวใจ โดยจะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการผ่าตัดบายพาส เพราะไม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบ

ขั้นตอนในการรักษานั้น ทำได้โดยการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่ออ่อนที่มีบอลลูนขนาดจิ๋วอยู่ตรงปลายเข้าไปทางเส้นเลือดที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ เมื่อถึงบริเวณที่เส้นเลือดตีบจึงต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายออก เบียดคราบไขมัน คราบหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลงและขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาใส่ขดลวด (stent) ที่มีลักษณะที่เป็นโครงตาข่าย เข้าไปค้ำยันยึดติดกับผนังหลอดเลือดที่ตีบเพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจในตำแหน่งที่ทำการขยายบอลลูนร่วมด้วย เพื่อป้องกันการกลับมาอุดตันอีก


4. การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยการใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ (เช่นเดียวกับการตรวจสวนหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี) ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็กๆ ไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น โดยการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


5. การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation) เป็นหัตถการเพื่อฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยทั่วไปเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะช่วยแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจที่เต้นช้ากว่าที่ควร โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งสัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้มากเพียงพอ เนื่องจากหัวใจที่เต้นด้วยจังหวะที่ช้ากว่าปกติจะไม่สามารถสูบฉีดโลหิตเป็นปริมาณมากเพียงพอสำหรับเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่นได้ทั้งร่างกาย และเป็นผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง หากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจะทำให้วิงเวียนและมึนศีรษะจนหมดสติได้

   
การรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดเป็นวิธีที่ปลอดภัย และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หรืออาการอื่นๆ ที่อาจเกิดจากโรคหัวใจ อย่างปล่อยผ่าน ควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และทันท่วงที