head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease/COPD)  (อ่าน 278 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 422
    • ดูรายละเอียด
ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง หมายถึงภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอยู่หลายโรค ที่สำคัญได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง ทั้ง 2 โรคนี้มักจะพบร่วมกัน ทำให้มีการลดลงของอัตราการไหลเวียนของลมหายใจผ่านปอดขณะหายใจออก จึงมีอากาศคั่งค้างอยู่ในปอดมากกว่าปกติ ประกอบกับการแลกเปลี่ยนอากาศขึ้นได้น้อยกว่าปกติ (มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น) เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยง่าย

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื้อรัง เป็นผลมาจากการถูกสารพิษในบุหรี่หรือสิ่งระคายเคือง ทำให้ขนอ่อน (cilia) พิการ ไม่สามารถโบกพัดเพื่อขจัดเชื้อโรคและสิ่งระคายเคืองออกไป เมื่อเยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบเรื้อรัง ก็จะทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมมีการเพิ่มจำนวนและหนาตัวขึ้น รวมทั้งต่อมเมือก (mucous glands) บวมโตและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมากกว่าปกติ จนทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะอุดกั้นขึ้น แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการไอมีเสมหะมากติดต่อกันทุกวันปีละมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี

ถุงลมปอดโป่งพอง (ถุงลมพอง ก็เรียก) หมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ปกติถุงลมอยู่ปลายสุดของปอด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนล้าน ๆ ถุง เป็นถุงอากาศเล็ก ๆ มีหลอดเลือดหุ้มอยู่โดยรอบ เป็นที่ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศ กล่าวคือ ก๊าชออกซิเจนในถุงลมซึมผ่านผนังถุงลมและหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด ซึมกลับออกมาในถุงลม ถุงลมที่ปกติจะมีผนังที่ยืดหยุ่น ทำให้ถุงลมหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง จะมีผนังถุงลมที่เสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ นอกจากนี้ผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้ถุงลมขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการเหนื่อยหอบง่าย

ทั้ง 2 โรคนี้มักจะเกิดร่วมกัน จนบางครั้งแยกกันไม่ออก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หลอดลมอักเสบเรื้อรังจะพบมากในช่วงอายุ 30-60 ปี ส่วนถุงลมปอดโป่งพองพบมากในช่วงอายุ 45-65 ปี ส่วนใหญ่จะมีประวัติสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) มานานเป็น 10-20 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่ในที่ที่มีอากาศเสีย สูดควันเป็นประจำ หรือมีอาชีพทำงานในโรงงาน หรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองเข้าไปเป็นประจำ


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากสารพิษในบุหรี่ที่สูบเข้าไปทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมในปอด ซึ่งค่อย ๆ เกิดขึ้น และลุกลามรุนแรงขึ้นอย่างช้า ๆ และในที่สุดเกิดความพิการอย่างถาวรดังกล่าวข้างต้น (พบว่าประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะเกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง)

ส่วนน้อยอาจเกิดจากมลพิษในอากาศ (เช่น ฝุ่น สารเคมี) จากการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง และอาจเสี่ยงมากขึ้น เมื่อมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย   

ในบางพื้นที่ (เช่น เขตเขาทางภาคเหนือ) พบว่าเกิดจากการใช้ฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยสูดควันอยู่ประจำจนเป็นพิษต่อทางเดินหายใจ

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหืด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่าคนปกติ และการสูบบุหรี่ยิ่งทำให้เสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าอาจเกิดจากภาวะพร่องสารต้านทริปซิน (alpha1-antitrypsin ซึ่งเป็นโปรตีนป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษทำลาย) ภาวะนี้พบได้น้อย สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และมักเกิดอาการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 40-50 ปี


อาการ

ระยะที่เริ่มเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (อาจเริ่มในช่วงอายุ 30-40 ปี) จะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังทุกวันเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาจะไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสมหะจำนวนมาก ในช่วงแรกมีลักษณะเป็นสีขาว ต่อมาอาจเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ขึ้นหรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน

ถ้าไม่หยุดสูบบุหรี่ จนมีโรคถุงลมปอดโป่งพองตามมา (อาจใช้เวลามากกว่า 10 ปี จากระยะเริ่มเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง) นอกจากอาการไอเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเฉพาะเวลาออกแรงมาก หรือเมื่อมีโรคติดเชื้อแทรก (เช่น มีไข้ ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว) อาการหอบเหนื่อยจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้น แม้แต่เวลาพูดหรือเดินหรือทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย จนในที่สุด (อาจใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป) แม้แต่อยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกหอบเหนื่อย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหายใจแลกเปลี่ยนอากาศ (ออกซิเจน) ได้เพียงพอต่อการนำไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงาน

ในระยะหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราวเมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ทำให้มีไข้และไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว หายใจหอบ ตัวเขียว จนต้องเขารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

บางครั้งอาจมีภาวะหัวใจวายแทรกซ้อน

เมื่อเป็นถึงขั้นระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด รูปร่างผ่ายยอม และมีอาการเหนื่อยหอบอยู่ตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมาน และรู้สึกท้อแท้


ภาวะแทรกซ้อน

มักมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเป็นครั้งคราว เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีอาการหอบกำเริบรุนแรง ระยะแรก ๆ ประมาณปีละ 1-2 ครั้ง แต่เมื่อโรคถุงลมปอดโป่งพองเป็นรุนแรงมากขึ้น ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ถี่ขึ้นจนผู้ป่วยอาจต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลบ่อย

ระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีภาวะการหายใจล้มเหลวเรื้อรัง (chronic respiratory failure) ร่วมด้วย และอาจมีภาวะหัวใจวายแทรกซ้อน มีอาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง เท้าบวม ตับโต หัวใจห้องขวาล่างโต เรียกว่า โรคหัวใจเหตุจากปอด (cor pulmonale)

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดทะลุ จากการที่ถุงลมส่วนนอก (ใกล้เยื่อหุ้มปอด) แตก ไอออกเป็นเลือดจากการอักเสบของหลอดลม ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (polycythemia ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด หรือ phrombosis) ไส้เลื่อน กำเริบเนื่องจากอาการไอเรื้อรัง เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ในระยะแรก อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

ระยะต่อมาใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักได้ยินเสียงอึ๊ด (rhonchi) เสียงกรอบแกรบ (crepitation) เสียงวี้ด (wheezing) และ/หรือเสียงหายใจออกยาว (prolonged expiration) ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนมักมีไข้ร่วมด้วย

ในระยะที่เป็นมากขึ้น อาจพบอาการหายใจเร็ว หน้าอกมีอาการเคาะโปร่ง (hyperresonant) และเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด จะพบเสียงหายใจค่อย (ฟังไม่ค่อยได้ยิน) เนื่องจากมีอากาศค้างอยู่ในถุงลม และลมหายใจเข้าออกได้น้อย ถ้ามีอากาศค้างอยู่ในถุงลมมาก ก็จะพบหน้าอกมีลักษณะเป็นรูปถังทรงกระบอก เรียกว่า อกถัง หรือ อกโอ่ง (barrel chest)

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ทำการวัดปริมาตรอากาศหายใจ (spirometry) เพื่อประเมินสมรรถภาพของปอด* ในรายที่เป็นระยะรุนแรงอาจทำการตรวจเลือดประเมินภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (polycythemia) ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด (ซึ่งจะต่ำกว่าปกติตั้งแต่ระยะแรก ๆ) และคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (ซึ่งจะสูงกว่าปกติในระยะต่อมา) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น ในรายที่อายุต่ำกว่า 40 ปีอาจตรวจหาระดับสารต้านทริปซินในเลือด

อกโอ่ง

* ดูค่า FEV1 (forced expiratory volume in one second) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกใน 1 วินาที และค่า FVC (forced vital capacity) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกจนสุดอย่างเต็มที่หนึ่งครั้ง

แพทย์จะประเมินจากค่า FEV1 และ FEV1/FVC (ค่า FEV1 หารด้วยค่า FVC) ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้ถ้ายิ่งมีค่าต่ำ ก็ยิ่งบ่งชี้ว่ายิ่งมีความรุนแรง เช่น ในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง มักมีค่า FEV1/ FVC < 70% และมีค่า FEV1 ≥ 80% ของค่ามาตรฐาน (ในรายที่เป็นเล็กน้อย) ระหว่าง 30-80% (ในรายที่เป็นปานกลาง) และ < 30% (ในรายที่เป็นรุนแรง)

การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ถ้ามีเสียงวี้ด (wheezing) ให้ยาขยายหลอดลม กลุ่มยากระตุ้นบีตา 2 หรือไอพราโทรเพียมโบรไมด์ชนิดสูด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน ถ้ามีอาการหอบตอนดึก อาจให้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะให้สตีรอยด์ชนิดสูดร่วมกับยาข้างต้น

2. ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น มีไข้หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน, ดอกซีไซคลีน, โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น) นาน 7-10 วัน

3. ในรายที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง หรือสงสัยเป็นปอดอักเสบ ปอดทะลุ หรือภาวะหัวใจวาย แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ อาจต้องให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผลการรักษา ขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นระยะแรก (FEV1 > 50% ของค่ามาตรฐาน) และผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาด ก็มักจะได้ผลดี โรคจะไม่ลุกลามรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามจนถึงระยะรุนแรง (สมรรถภาพของปอดลดลงอย่างมากแล้ว คือ FEV1 < 30% ของค่ามาตรฐาน) ก็มักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน (เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ปอดทะลุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด เป็นต้น) ภายใน 1–5 ปี โดยเฉลี่ยผู้ป่วยทุกระดับของความรุนแรงมีอัตราตายมากกว่าร้อยละ 50 ใน 10 ปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก

การดูแลตนเอง

หากมีอาการไอและเหนื่อยง่ายอย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรืออยู่ในบรรยากาศที่มีฝุ่นควันนานๆ  ควรปรึกษาแพทย์

หากตรวจพบว่าเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือถุงลมปอดโป่งพอง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญคือ เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ (วันละ 8-12 แก้ว) เพื่อช่วยขับเสมหะ

2. ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยเรียนรู้วิธีใช้ยาที่ถูกต้อง และติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง

3. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย 
    เจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบหรือหายใจลำบาก   
    ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอเป็นเลือด
    เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
    มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น นอนราบไม่ได้ (เพราะรู้สึกหายใจลำบาก) หรือเท้าบวม
    ใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น 
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

1. ที่สำคัญคือ การไม่สูบบุหรี่

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ

3. หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศ

4. ถ้าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ควรหมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการไอบ่อยทุกวันโดยไม่มีสาเหตุอื่นชัดเจน

2. ผู้ที่เริ่มเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะแรกเริ่ม ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด จะช่วยให้อาการไม่ลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางช่วยให้เลิกบุหรี่ ให้ยาบรรเทาตามอาการ ประเมินสมรรถภาพของปอดและภาวะแทรกซ้อนเป็นระยะ ๆ

3. ผู้ป่วยและญาติควรศึกษาให้เข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและแนวทางการดูแลรักษา ญาติควรเข้ามามีบทบาทในการให้กำลังใจผู้ป่วย ในการเลิกบุหรี่และการติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลเรื่องโภชนาการ (ผู้ป่วยระยะรุนแรงมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งจะทำให้ซ้ำเติมอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น) การให้ออกซิเจนที่บ้าน (สำหรับผู้ป่วยระยะรุนแรง) การใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด การพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันทีที่สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน และการเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (end of life) ให้มีคุณภาพ ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และไม่ให้สิ้นเปลืองเกินเหตุ

4. โรคถุงลมปอดโป่งพอง อาจมีอาการหายใจหอบและได้ยินเสียงวี้ดคล้ายโรคหืด แต่ต่างกันตรงที่ถุงลมปอดโป่งพองจะเริ่มมีอาการในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไปที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดหรือถูกมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน และมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรงขึ้นทีละน้อยอย่างช้า ๆ (ใช้เวลานาน 5-10 ปีขึ้นไป) ส่วนโรคหืดมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก มักมีประวัติโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ในครอบครัว และมีอาการหอบกำเริบเป็นครั้งคราว บางครั้งก็อาจแยกกันไม่ได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในคนอายุมาก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โรคนี้มีแนวทางการดูแลรักษาคล้ายกัน และควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เป็นหลัก



หมอออนไลน์: ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease/COPD) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com

xaphyr

  • บุคคลทั่วไป
Re: หมอออนไลน์: ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease/COPD)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: วันที่ 11 พฤษภาคม 2024, 20:55:51 น. »