head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula)  (อ่าน 24 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 468
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula)
« เมื่อ: วันที่ 5 มกราคม 2025, 09:45:57 น. »
ตรวจอาการฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula)

ฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) คือ โรคที่เกิดจากการเชื่อมกันระหว่างผิวหนังบริเวณใกล้ทวารหนัก กับทวารหนัก โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการติดเชื้อที่ต่อมใกล้ทวารหนัก ซึ่งมีการติดเชื้อซ้ำและเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดเป็นทางเชื่อมที่ต้องระบายออกมาทางผิวหนังใกล้ทวารหนัก มีลักษณะเป็นโพรงใต้ผิวหนังเชื่อมต่อกับต่อมที่เกิดการติดเชื้อ โดยฝีคัณฑสูตรมักจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการของฝีคัณฑสูตร
ผู้ที่เป็นฝีคัณฑสูตรอาจพบว่าตนเองมีอาการดังต่อไปนี้

    ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ทวารหนักเกิดการระคายเคือง
    มีอาการปวดตุบ ๆ บริเวณทวารหนักซึ่งจะปวดมากเวลานั่ง ขยับตัว มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรือไอ
    มีกลิ่นไม่พึงประสงค์บริเวณใกล้ทวารหนัก
    มีเลือดหรือหนองออกมาเวลาอุจจาระ
    มีอาการบวม แดงและกดเจ็บบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก
    ในรายที่เกิดโพรงหนองอาจมีไข้ และหนาวสั่น
    รู้สึกอ่อนเพลีย
    ในบางรายจะเกิดความผิดปกติหรือลำบากในการควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้
    ท้องผูก

หากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีอาการต่าง ๆ ดังข้างต้นและเป็นอย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

สาเหตุของฝีคัณฑสูตร
ฝีคัณฑสูตรมักมีสาเหตุจากการเกิดฝีที่ทวารหนักซึ่งไม้ไดรับการรักษาหรือฟื้นฟูอย่างเหมาะสมหลังจากที่หนองได้ระบายออกไปแล้ว

สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่

    โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis) เป็นโรคที่ผนังในลำไส้โป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะ จากนั้นจึงเกิดการอักเสบติดเชื้อ
    โรคโครห์น (Crohn's disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหารในระยะยาว
    การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa) เป็นภาวะทางผิวหนังที่ก่อให้เกิดหนองหรือแผลเป็นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
    การติดเชื้อ เช่น วัณโรค เอชไอวี (HIV) เป็นต้น
    ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดบริเวณใกล้กับทวารหนัก

การวินิจฉัยฝีคัณฑสูตร
การทราบถึงเส้นทางทั้งหมดของฝีคัณฑสูตรเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ แพทย์จะวินิจฉัยฝีคัณฑสูตรโดยเริ่มต้นจากการสอบถามอาการและประวัติภาวะทางลำไส้ของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์อาจขอตรวจบริเวณทวารหนักและค่อย ๆ เอานิ้วสอดเข้าไปเพื่อตรวจสอบ โดยช่องเปิดที่บริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบจะปรากฎเป็นสีแดง และอาจมีเลือดหรือหนองไหลซึมออกมา ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย

หากแพทย์คิดว่าผู้ป่วยเป็นฝีคัณฑสูตร จะส่งตัวผู้ป่วยไปยังศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อทดสอบเพิ่มเติมและประเมินการรักษาที่เหมาะสม เพราะการหารูเปิดของฝีคัณฑสูตรภายในทวารหนักจะมีความซับซ้อนมากกว่า โดยแพทย์อาจใช้วิธีทดสอบต่อไปนี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

    การตรวจร่างกายและตรวจรูทวารหนักซ้ำอีกครั้ง
    การใช้กล้องส่อง (Proctoscopy) ส่องดูภายในรูทวารหนัก โดยจะช่วยเปิดและขยายทางเดินบริเวณรูทวารให้ตรวจได้ง่ายขึ้นเมื่อมองด้วยตาเปล่า
    การตรวจอัลตราซาวด์
    การเอกซเรย์พิเศษ (Fistulography) เป็นการเอกซเรย์หลังจากที่ได้ฉีดสารเพิ่มความคมชัดภาพ
    การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (Endoscopic Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างรายละเอียดภาพของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและโครงสร้างอื่น ๆ ของอุ้งเชิงกราน
    การตรวจเอกซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI)  ซึ่งจะมีประโยชน์ในกรณีที่รอยโรคมีความซับซ้อน เช่น รูเปิดของรอยโรคมีหลายตำแหน่งหรืออาจใช้ในกรณีที่หาจุดที่เป็นฝีคัณฑสูตรได้ยาก
    การตรวจ CT Scan (Computerized Tomography)

การรักษาฝีคัณฑสูตร
การรักษาฝีคันฑสูตรขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อน เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อรักษาให้หายขาด ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และป้องกันกล้ามเนื้อหูรูดเกิดความเสียหาย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหูรูดอาจทำให้เกิดปัญหาในการกลั้นอุจจาระ สำหรับทางเลือกในการรักษา มีดังนี้

    การผ่าฝีคัณฑสูตร (Fistulotomy) วิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่โรคฝีคัณฑสูตรไม่ซับซ้อน
    เป็นวิธีที่ศัลยแพทย์จะผ่าเปิดตลอดแนวรูทะลุของฝีคัณฑสูตร และขูดเอาเนื้อเยื้อที่ติดเชื้อออกให้หมด ภายหลังที่ฟื้นฟูแล้วอาจจะทำให้เกิดแผลเป็น
    การผ่าตัดวิธี Ligation of the Intersphincteric Fistula Tract: LIFT เป็นวิธีที่จะใช้ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรที่ลึกหรือมีความซับซ้อน โดยวิธี LIFT จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ไม่เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนัก
    วิธี Advancement Rectal Flap เป็นวิธีที่ศัลยแพทย์จะสร้างแผ่นเนื้อเยื่อจากผนังทวารหนักก่อนที่จะนำช่องเปิดภายในของฝีคัณฑสูตรออก โดยผนังเนื้อเยื้อที่ถูกสร้างขึ้นมาจะนำมาใช้ในการซ่อมแซม และวิธีนี้จะช่วยลดจำนวนการนำเอากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกได้
    ขั้นตอนการใช้หมุดใส่แผล (Seton) โดยนำหมุดใส่แผลใส่ทิ้งไว้ในรูทะลุของฝีคัณฑสูตรไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อช่วยในการฟื้นฟูก่อนที่จะมีขั้นตอนอื่น ๆ
    กาวไฟบริน (Fibrin Glue) และแท่งคอลลาเจน (Collagen Plug) ศัลยแพทย์จะจัดการชำระล้างช่องรูทะลุและเย็บปิดช่องเปิดภายใน จากนั้นจะใช้กาวไฟบรินฉีดเข้าไปทางช่องเปิดภายนอก ช่องรูทะลุของฝีคัณฑสูตรยังสามารถปิดได้ด้วยแท่งคอลลาเจน

ขั้นตอนการรักษาแต่ละชนิดจะมีผลดีและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรปรึกษากับศัลยแพทย์ ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด แต่บางรายอาจจำเป็นซึ่งขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค วิธีที่ใช้ในการรักษา และอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของฝีคัณฑสูตร
ภาวะแทรกซ้อนของฝีคัณฑสูตรอาจเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด ซึ่งคล้ายคลึงกันกับการผ่าตัดหลาย ๆ ชนิด โดยอาจมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้

    การติดเชื้อ ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และบางรายที่มีความรุนแรงอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
    การกลับมาเป็นซ้ำ ถึงแม้ว่าจะรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้
    เกิดความผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายหรือกลั้นไม่ได้ เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติที่รุนแรงจะพบได้น้อยมาก เพราะการผ่าตัดและรักษาจะช่วยป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว
    มีเลือดออกมาก
    มีอาการเจ็บปวดมาก บวมหรือมีหนองไหล
    มีไข้สูง
    คลื่นไส้
    ท้องผูก
    ปัสสาวะลำบาก
    เกิดรอยแผลเป็น

ระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของฝีคัณฑสูตรและวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดรักษา ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น


การป้องกันฝีคัณฑสูตร

เนื่องจากฝีคัณฑสูตรไม่สามารถป้องกันได้ และควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีวิธีในการดูแลตนเองหลังจากการผ่าตัด ดังต่อไปนี้

    ภายหลังจากการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวดซึ่งมีทั้งชนิดฉีดและรับประทาน
    นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ป่วยบางรายที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยที่สุขภาพโดยรวมแข็งแรงดีอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
    โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวหรือรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ หลังจากฤทธิ์ของยาสลบหรือยาชาได้หมดลงแล้ว
    ผู้ป่วยมักจะต้องทำแผลจนกว่าแผลจะฟื้นฟู ซึ่งในระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องให้พยาบาลช่วยในการเปลี่ยนผ้าปิดแผลและตรวจสอบสภาพแผลอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปแผลจะใช้เวลาฟื้นฟูประมาณ 6 สัปดาห์
    ในระหว่างที่กำลังพักฟื้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้รับประทานยาที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม เพื่อให้ขับถ่ายสะดวกหรือช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวจากกการเคลื่อนไหวของลำไส้
    อาจใส่ผ้าก๊อซแบบแผ่นพับหรือผ้าอนามัยช่วยป้องกันเลือดหรือหนองที่อาจระบายออกมาเปื้อนเสื้อผ้า