head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: ไข้รูมาติก Rheumatic fever  (อ่าน 30 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 408
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: ไข้รูมาติก Rheumatic fever
« เมื่อ: วันที่ 3 พฤศจิกายน 2024, 23:16:00 น. »
ตรวจสุขภาพ: ไข้รูมาติก Rheumatic fever

Rheumatic Fever หรือไข้รูมาติก เป็นกลุ่มอาการที่มีการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส กรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) ที่รักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะอาการคออักเสบหรือไข้อีดำอีแดงที่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้อต่อกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก และอาจมีการทำงานผิดปกติของหัวใจร่วมด้วย

ไข้รูมาติกสามารถพบได้ทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี หากผู้ป่วยมีอาการของไข้รูมาติกควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อหัวใจในระยะยาวและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาจะเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะและวิธีอื่น ๆ ตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

อาการของ Rheumatic Fever

Rheumatic Fever มักจะแสดงอาการของโรคใน 2-4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อคออักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือเกิดหลายอาการร่วมกัน อีกทั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ในระหว่างที่มีอาการป่วย

อาการของ Rheumatic Fever มีความหลากหลายไปตามตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการอักเสบ ส่วนมากมักพบการอักเสบที่บริเวณหัวใจ ข้อต่อ ผิวหนัง หรือระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

    มีไข้ อ่อนเพลีย
    ต่อมทอนซิลบวมแดง
    มีอาการปวดหรือกดเจ็บตามข้อต่อกระดูก ส่วนใหญ่จะพบบริเวณหัวเข่า ข้อเท้า ศอก และข้อมือ
    เจ็บหรือปวดตามข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งก่อนจะลามไปยังข้อต่ออื่น ๆ
    ข้อต่อกระดูกมีรอยแดง แสบ หรือบวม
    ปวดกล้ามเนื้อ
    มีตุ่มก้อนขนาดเล็กอยู่ใต้ผิวหนัง แต่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
    เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
    ตรวจพบหัวใจเต้นเป็นเสียงฟู่ (Mur-Mur)
    เกิดรอยผื่นที่มีลักษณะแบนหรือนูนขึ้นเล็กน้อย ขอบขรุขระ แต่ไม่มีอาการเจ็บ
    มีอาการกระตุกหรือเกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Sydenham Chorea) ซึ่งมักพบในบริเวณมือ เท้า และใบหน้า
    แสดงพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ร้องไห้หรือหัวเราะอย่างไม่ถูกกาลเทศะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าบุตรหลานหรือตนเองมีอาการคออักเสบ โดยจะพบอาการเจ็บคอเฉียบพลัน เจ็บเมื่อกลืน มีไข้ ปวดหัว เจ็บท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยเร็ว


สาเหตุของ Rheumatic Fever

Rheumatic Fever เป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ที่เป็นสาเหตุของอาการคออักเสบหรือไข้อีดำอีแดง ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้มีส่วนประกอบของโปรตีนที่คล้ายกับโปรตีนของเนื้อเยื่อบางส่วนในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายแทนการกำจัดแบคทีเรียดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมโดยเฉพาะบริเวณหัวใจ ข้อต่อ ผิวหนัง และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ด้วยเหตุนี้ หากมีอาการคออักเสบหรือไข้อีดำอีแดงที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่หายดี จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงที่อาการของผู้ป่วยจะกลายเป็นไข้รูมาติก นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวหรือตนเองที่มียีนบางชนิดที่ส่งผลให้ร่างกายกระตุ้นอาการ การสัมผัสเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดหรือระบบสุขาภิบาลไม่มีคุณภาพ ก็เป็นส่วนสำคัญที่อาจก่อให้เกิดการส่งต่อและการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียคออักเสบชนิดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

การวินิจฉัย Rheumatic Fever

การตรวจ Rheumatic Fever จะมีอยู่หลายขั้นตอน โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์ร่วมกับการตรวจร่างกาย และตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

    การเพาะเชื้อจากไม้ป้ายลำคอเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของคออักเสบ
    การตรวจเลือดจะช่วยตรวจจับสารภูมิต้านทานที่มีเชื้อแบคทีเรียในเลือดของผู้ป่วย รวมถึงตรวจหาสาเหตุของอาการอักเสบภายในร่างกายโดยการตรวจวัดระดับโปรตีน C-Reactive และการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงใน 1 ชั่วโมง
    การทดสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) โดยจะบันทึกการส่งคลื่นไฟฟ้าผ่านหัวใจของผู้ป่วย ซึ่งผลการตรวจจะแสดงให้เห็นหากหัวใจของผู้ป่วยมีการทำงานที่ผิดปกติและหัวใจบางห้องโตกว่าปกติส่วนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
    การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) โดยการใช้คลื่นเสียงสร้างภาพการทำงานของหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตรวจพบหากหัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติ

การรักษา Rheumatic Fever

แพทย์จะมุ่งการรักษา Rheumatic Fever ไปที่การกำจัดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ บรรเทาอาการ ควบคุมการอักเสบ และป้องกันไม่ให้อาการของโรคกลับมาเกิดซ้ำ


การใช้ยาปฏิชีวนะ

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ หลังจากนั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยอาจใช้เวลาในรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี แต่ผู้ที่มีอาการอักเสบบริเวณหัวใจอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี


การใช้ยาต้านอักเสบ

แพทย์จะจ่ายยาบรรเทาอาการปวดอย่างยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อลดอาการอักเสบ อาการไข้ และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) แทน


การใช้ยากันชัก

แพทย์จะจ่ายยากันชักในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวที่รุนแรงเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Sydenham Chorea) อาทิ ยาวาลโปรเอท (Valproate) หรือยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
การพักฟื้นร่างกายอย่างเต็มที่

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยอาจใช้เวลาในการพักฟื้น 2-3 สัปดาห์ และหากหัวใจของผู้ป่วยมีการทำงานที่ผิดปกติเนื่องจากมีไข้ อาจจำเป็นต้องใช้เวลาพักฟื้น 2-3 เดือน


ภาวะแทรกซ้อนของ Rheumatic Fever

เนื่องจาก Rheumatic Fever มักมีอาการต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวจากการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) หลังจากมีอาการพื้นฐานของโรคไข้รูมาติก 10-20 ปี

นอกจากนี้ อาจเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว การติดเชื้อในชั้นเยื่อบุหัวใจ เยื่อรอบหัวใจมีอาการบวม หัวใจเต้นเร็วและมีจังหวะไม่คงที่ หรือลิ้นหัวใจได้รับความเสียหายขณะมีอาการของโรคที่รุนแรง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจอาจเป็นสาเหตุของการทำงานผิดปกติของหัวใจในอนาคต และอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) และภาวะหัวใจวายได้ หากอาการของ Rheumatic Fever ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต


การป้องกัน Rheumatic Fever

หากพบว่าตนเองหรือบุตรหลานมีอาการคออักเสบหรือไข้อีดำอีแดง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมและมีขนาดใหญ่ มีจุดสีแดงขึ้นบริเวณเพดานปาก และปวดหัว ซึ่งการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วงป้องกันการเกิด Rheumatic Fever ได้ 

นอกจากนี้ การรักษาสุขอนามัยที่ดีด้วยการปิดปากขณะไอหรือจาม ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือใช้ของร่วมกับผู้ที่มีอาการป่วย เป็นอีกทางที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการคออักเสบซึ่งเป็นต้นเหตุของ Rheumatic Fever ได้เช่นกัน