head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)  (อ่าน 22 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 394
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)
« เมื่อ: วันที่ 24 ตุลาคม 2024, 15:29:28 น. »
Doctor At Home: หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)

หลอดลมอักเสบ* หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักพบหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น และกลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคือง (ฝุ่น ควัน ) ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

*หลอดลมอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือก (mucous gland) โตขึ้นและหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามากกว่าปกติ อุดกั้นให้ช่องทางเดินหลอดลมแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอมีเสมหะ บางครั้งอาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย

สาเหตุ

1. จากการติดเชื้อ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ และติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด

ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (เช่น Mycoplasma pneumoniae‚ Clamydia pneumoniae‚ Streptococcus pneumoniae‚ Hemophilus  influenzae‚ Moraxella catarrhalis) ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคืองหรือมลพิษเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคหวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง

2. จากการถูกสิ่งระคายเคือง ที่พบบ่อย คือการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ขนอ่อน (cilia) ที่เยื่อบุหลอดลมเคลื่อนไหว (โบกพัดเพื่อปกป้องผิวหลอดลม) น้อยลง เยื่อบุหลอดลมถูกระคายเคือง ทำให้ต่อมเมือกโตขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และฟื้นหายได้หายช้ากว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากควัน ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง รวมทั้งเกิดจากการระคายเคืองของน้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรด) ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน

พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งระคายเคือง อาจเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย และอาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ


อาการ

ที่สำคัญคือ มีอาการไอบ่อย ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ   ใน 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 วัน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะเล็กน้อย เป็นเสมหะใส แล้วต่อมาเสมหะจะมีปริมาณมากขึ้น มีลักษณะเป็นสีขาว

ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอนำมาก่อนที่จะเกิดอาการไอ บางรายอาจไม่มีอาการเหล่านี้นำมาก่อนก็ได้

ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ ๆ อยู่นาน 3-5 วัน บางรายอาจมีอาการน้ำมูกไหล เจ็บคอเล็กน้อย ปวดศีรษะเล็กน้อย เสียงแหบ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย หรือรู้สึกหายใจหอบเหนื่อยเล็กน้อยร่วมด้วย

อาการมักจะทุเลาใน 7-10 วัน และหายภายใน 3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการไอต่อเนื่อง อาจนานถึง 8-12 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

ผู้ป่วยมักมีอาการไอมากเวลาล้มตัวลงนอนตอนกลางคืน (จนอาจทำให้นอนไม่พอ) หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือเวลาสัมผัสถูกสิ่งระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ (เช่น ความเย็น ฝุ่น ควัน ลมจากพัดลม/เครื่องปรับอากาศ) ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอหรือเจ็บหน้าอกเวลาไอแรง ๆ หรืออาจมีอาการอาเจียนจากการไอ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก)

ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะที่มีลักษณะข้นและหนาตัวขึ้น สีเสมหะเปลี่ยนจากขาวเป็นเหลืองหรือเขียว มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ รู้สึกเหนื่อยหอบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วย พบได้บ่อยในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง (เช่น หืด ถุงลมปอดโป่งพอง) อยู่ก่อน

ในรายที่เป็นซ้ำซาก อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่) และหลอดลมพอง

บางรายอาจมีอาการไอเป็นเลือด


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

การตรวจร่างกาย ในรายที่อาการไม่รุนแรงมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ

บางรายอาจพบไข้ต่ำ ๆ (ประมาณ 38 องศาเซลเซียส) หรือมีน้ำมูก

การใช้เครื่องฟังตรวจปอด อาจได้ยินเสียงหายใจหยาบ (coarse breath sound) หรือมีเสียงอึ๊ด (rhonchi) หรือเสียงกรอบแกรบ (crepitation) บางรายอาจมีเสียงวี้ด (wheezing)

ในบางกรณี เช่น ต้องการวินิจฉัยให้แน่ชัดเกี่ยวกับหลอดลมอักเสบที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาระงับการไอ หรือยาขับเสมหะ ยาลดไข้

ถ้าไอมีเสมหะข้นเหนียว ควรหลีกเลี่ยงยาระงับการไอและยาแก้แพ้ อาจทำให้เสมหะเหนียวขับออกยาก หรืออุดกั้นหลอดลมเล็ก ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้

2. ถ้ามีเสียงวี้ดร่วมด้วย ให้ยาขยายหลอดลม (เช่น ยากลุ่มกระตุ้นบีตา 2) สูดหรือกิน

3. ยาปฏิชีวนะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เอง ยาปฏิชีวนะนอกจากไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงหลายอย่างตามมาได้

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะสำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น พบว่าเสมหะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นข้นเหลืองหรือเขียว มีไข้สูง และมีอาการอ่อนเพลียหรือปวดเมื่อยตามตัวมาก หรือ ตรวจเลือดหรือเสมหะพบว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมชิน, ดอกซีไซคลีน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7-10 วัน

4. ถ้าผู้ป่วยยังมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวหลังให้ยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์ หรือยังรู้สึกหอบเหนื่อยหลังให้ยาขยายหลอดลม 3 วัน, สงสัยมีปอดอักเสบแทรกซ้อน (ไข้สูง หายใจหอบ),  มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์, น้ำหนักลด, ไอออกเป็นเลือด หรือมีอาการกำเริบมากกว่า 3 ครั้งต่อปี แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ บางรายแพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) และให้การรักษาตามสาเหตุ

ถ้าพบว่ามีสาเหตุจากโรคกรดไหลย้อน ก็ให้ยาลดการสร้างกรด และแนะนำการปฏิบัติตัวต่าง ๆ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ และน้อยรายที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา


การดูแลตนเอง

1. ถ้ามีอาการไอ มีเสมหะใสหรือเป็นสีขาว โดยยังรู้สึกแข็งแรงดี (กินได้ ทำงานได้) ซึ่งมั่นใจว่าเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ
    ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็นหรือน้ำใส่น้ำแข็ง
    งดสูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง ความเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน ลม อากาศเสีย เป็นต้น
    ถ้าไอเล็กน้อยให้จิบน้ำอุ่น ๆ น้ำมะนาว หรือน้ำขิงอุ่นๆบ่อย ๆ ถ้าไอมากจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี) หรือยาแก้ไอมะขามป้อม หรืออมยาอมมะแว้ง (ยกเว้นเด็กเล็ก)
    ถ้ามีไข้ กินยาลดไข้-พาราเซตามอล
    หลีกเลี่ยงการกินยาแก้หวัดแก้แพ้ (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียวขับออกยาก ทำให้ไอมากขึ้นได้
    ควรปรึกษาแพทย์
    - ถ้ามีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
    - ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอเป็นเลือด
    - หายใจหอบ/มีเสียงวี้ด หรือเจ็บหน้าอกมาก
    - อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
    - ไอมากจนทำให้นอนไม่ได้
    - ดูแลรักษาตนเอง 2 สัปดาห์แล้วอาการไอยังไม่ทุเลา
    - มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

2. ถ้าสงสัยว่ามีอาการรุนแรง หรือไม่มั่นใจที่ดูแลตนเองตั้งแต่แรก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ควรดูแลตนเองดังนี้

    กินยาตามและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
    ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
    - หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
    - ไอเป็นเลือด หรือน้ำหนักลด
    - มีอาการไข้นานเกิน 4 วัน ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอนานเกิน 3 สัปดาห์
    - ในกรณีที่แพทย์ให้กินยาปฏิชีวนะ ถ้ากินไป 4 วันแล้วยังไม่ทุเลา หรือทำยาหาย
    - มีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    หาทางป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ ด้วยการหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่
    ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
    ไม่สูบบุหรี่
    หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ควัน ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น
    ในรายที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน ควรดูแลรักษาโรคนี้ไม่ให้กำเริบบ่อย (ดู "โรคกรดไหลย้อน")

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการเล็กน้อย และหายได้เองภายใน 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตนเองได้ ด้วยการบรรเทาอาการไอเป็นสำคัญ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือมีอาการไอนานเกิน 3 สัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์

2. ผู้ป่วยบางรายอาจไอโครก ๆ อยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ ลักษณะไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจากการอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น บุหรี่ ควัน ฝุ่น ลม ความเย็น สิ่งระคายเคืองต่าง ๆ) และมีอาการไอระคายคอทันทีเมื่อสัมผัสถูกสิ่งกระตุ้น

เยื่อบุหลอดลมจะค่อย ๆ ฟื้นตัว กว่าจะแข็งแรงเต็มที่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ควรให้การดูแลโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ให้ยาแก้ไอบรรเทาเป็นครั้งคราว (ซึ่งไม่ได้ทำให้อาการไอหายเร็ว) แล้วรอเวลาให้หายตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันไป โดยทั่วไปอาจใช้เวลานาน 7-8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์

แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ไอออกมาเป็นเลือด ไอรุนแรง หรือมีความวิตกกังวล ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น และมีอาการไอรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาไอพราโทรเพียมโบรไมด์ชนิดสูด อาจช่วยให้ทุเลาได้

3. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว