head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ไขมันในเลือดผิดปกติ/ไขมันในเลือดสูง  (อ่าน 16 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 340
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ไขมันในเลือดผิดปกติ/ไขมันในเลือดสูง
« เมื่อ: วันที่ 18 กันยายน 2024, 20:31:23 น. »
Doctor At Home: ไขมันในเลือดผิดปกติ/ไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีอยู่หลายแบบและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ดังนี้

    ไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) หมายถึง ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (hypercholesterolemia) อันเนื่องมาจากแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (hypertriglyceridemia) หรือสูงทั้งสองอย่างร่วมกัน
    ไลโพโปรตีนในเลือดผิดปกติ (dyslipoproteinemia) หมายถึง ภาวะที่มีไลโพโปรตีนชนิดต่าง ๆ ในเลือดผิดปกติ ได้แก่ ภาวะแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “แอลดีแอลสูง (high LDL cholesterol/hyperbetalipoproteinemia)”, เอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “เอชดีแอลต่ำ (low HDL cholesterol/hypoalphalipoproteinemia)”

สำหรับเกณฑ์การตัดสินภาวะไขมันผิดปกติในเลือด ดูตารางในหัวข้อ “สาเหตุ”

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ อาจพบภาวะแอลดีแอลสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือเอชดีแอลต่ำ เพียงแบบใดแบบหนึ่ง หรือพบ 2-3 แบบร่วมกันก็ได้

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งชักนำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral artery disease /PAD) ทั้งนี้ หากพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากยิ่งขึ้น

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ พบได้บ่อยทั้งชายและหญิง พบมากในผู้ที่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ อ้วนหรือลงพุง ชอบกินอาหารพวกไขมันมาก ๆ หรือทำงานเบา ๆ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หรือผู้ที่เป็นเบาหวาน

สาเหตุ

1. เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ โดยมีพ่อแม่พี่น้องมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติร่วมด้วย เรียกว่า ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดปฐมภูมิ (primary dyslipidemia) หรือชนิดครอบครัว (familial hyperlipidemia) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีรูปร่างสมส่วน หรือผอม และการควบคุมอาหารอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ทำให้ระดับไขมันในเลือดเป็นปกติ จำเป็นต้องใช้ยารักษา ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของไขมันในเลือดหลายแบบร่วมกัน

2. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติชนิดมีสาเหตุ หรือชนิดทุติยภูมิ (secondary dyslipidemia) มักมีสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีสาเหตุร่วมกัน ดังต่อไปนี้

    การบริโภคอาหารที่ทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ ได้แก่ 
         - ไขมันชนิดอิ่มตัว (saturated fat) เช่น ไขมันสัตว์ เนย เนื้อแดง เนื้อที่มีมันมาก หนังสัตว์ เครื่องในสัตว์ หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง อาหารทะเล (หอยนางรม กุ้ง ปู ปลาหมึก) เป็นต้น ทำให้แอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง
         - ไขมันทรานส์ (trans fat) ซึ่งพบในไขมันพืช (ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว) ที่ถูกนำมาแปรรูปโดยการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) เข้าไปในโครงสร้างทางเคมี จนกลายเป็นไขมันอิ่มตัว ทำให้น้ำมันพืชที่แปรรูปนี้แข็งตัวและเก็บรักษาไว้ได้นาน นำมาผลิตเนยขาว (หรือเนยเทียม) มาการีน และครีมเทียม ซึ่งนิยมใช้ผสมในอาหาร ขนม (พวกเบเกอรี่ ขนมอบกรอบ อาหารทอด อาหารขบเคี้ยว) และเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น คุกกี้ เค้ก โดนัท พาย ข้าวโพดคั่ว เวเฟอร์ แครกเกอร์ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด เครื่องดื่ม (ชา กาแฟ) ที่ใส่ครีมเทียม เป็นต้น นอกจากนี้ไขมันทรานส์ยังพบในอาหารที่ผ่านการทอดด้วยความร้อนสูง หรือทอดด้วยน้ำมันที่ใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ไขมันทรานส์มีผลทำให้แอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง และเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ
         - อาหารที่ให้พลังงานเกินความต้องการของร่างกาย เช่น อาหารพวกแป้ง น้ำตาล ของหวาน ผลไม้รสหวาน น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

    ความอ้วน หรือเส้นรอบเอวเกิน (มีค่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนสูง)
    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
    การสูบบุหรี่ (ลดไขมันชนิดดี หรือเอชดีแอลคอเลสเตอรอล)
    การขาดการออกกำลังกาย
    โรคหรือภาวะการเจ็บป่วย เช่น เบาหวาน โรคคุชชิง ภาวะขาดไทรอยด์ โรคไตเนโฟรติก ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรังและโรคตับที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (obstructive liver disease) การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
    การใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ-กลุ่มไทอาไซด์ (thiazides), ยาลดความดัน-กลุ่มยาปิดกั้นบีตา, สเตียรอยด์, เอสโทรเจน (ยาเม็ดคุมกำเนิด), โพรเจสเทอโรน, ยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่ม protease inhibitors, ไซโคลสปอริน เป็นต้น

อาการ

ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด

มักจะตรวจพบขณะตรวจเช็กสุขภาพ หรือขณะมาพบแพทย์ด้วยโรคบางอย่าง (เช่น เบาหวาน) หรือเมื่อมีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอก (จากหลอดเลือดหัวใจตีบ) ปวดน่องเวลาเดินมาก ๆ (จากหลอดเลือดแดงขาตีบ) อัมพาต (จากหลอดเลือดสมองตับ) เป็นต้น

ในรายที่มีภาวะไขมันสูงมาก ๆ อาจพบตุ่มหรือแผ่นเนื้อเยื่อไขมันลักษณะสีเหลืองบนผิวหนัง (เช่น บริเวณหนังตา คอ หลัง สะโพก) เรียกว่า กระเหลือง (xanthoma) ถ้าพบที่บริเวณเส้นเอ็น (เอ็นร้อยหวาย เอ็นบริเวณหลังมือ) ก็อาจทำให้เส้นเอ็นมีลักษณะหนาตัว

นอกจากนี้ อาจพบลักษณะวงแหวนสีขาว ๆ ตรงขอบกระจกตาดำ (แบบที่พบในผู้สูงอายุ) เรียกว่า เส้นขอบกระจกตาวัยชรา (arcus senilis)


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ คือ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั่วทุกส่วนของร่างกาย

ถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด

ถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม

ถ้าเกิดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ มีอาการปวดน่องเวลาเดินมาก ๆ เป็นตะคริว ปลายเท้าเย็น เป็นแผลเรื้อรังที่เท้า หรือปวดขาหรือปลายเท้า

ถ้าเกิดที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศในผู้ชายก็ทำให้เกิดภาวะองคชาตไม่แข็งตัว

นอกจากนี้ยังพบว่า อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver)

ส่วนผู้ที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงเกิน 2,000 มก./ดล.) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

แพทย์จะทำการตรวจเพื่อประเมินสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการเมตาบอลิก* รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน และให้การดูแลรักษา โดยแนะนำการปรับพฤติกรรม (ดู “ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดผิดปกติ” ในหัวข้อ “ข้อแนะนำ”) และให้การรักษาโรคหรือภาวะเสี่ยงที่พบร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น

ในรายที่ระดับไขมันสูงในขนาดที่ยังไม่ต้องให้ยาลดไขมัน จะให้ผู้ป่วยลองปรับพฤติกรรมนาน 3-6 เดือน หากควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงค่อยพิจารณาให้ยาลดไขมัน

แพทย์จะให้ยารักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โดยพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (ได้แก่ 1. อายุ : ชายมากกว่า 45 ปี หญิงมากกว่า 55 ปี, 2. มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนวัยอันควร : ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี, 3. สูบบุหรี่, 4. มีโรคความดันโลหิตสูง, 5. มีเอชดีแอล/HDL < 40 มก./ดล. แต่หากมีค่าเอชดีแอล/HDL ≥ 60 มก./ดล. ให้หักลบปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวออกไป 1 ข้อ) ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 10 ปีด้วยการคำนวณ

ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็จะให้ยาลดไขมันเมื่อมีระดับไขมันในเลือดต่ำกว่าผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ และกำหนดเป้าของระดับไขมันในเลือดที่ต่ำกว่าผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ

อาทิ การใช้ยาลดไขมันที่มีชื่อว่าซิมวาสแตติน (simvastatin) มีเกณฑ์ ดังนี้**

    มีปัจจัยเสี่ยง 0-1 ข้อ จะเริ่มให้ยาลดไขมันเมื่อ LDL-C ≥ 190 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 160 มก./ดล.
    กรณีมีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ให้ประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจใน 10 ปีจากการคำนวณ ***

      - ถ้ามีความเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 10 จะเริ่มให้ยาลดไขมันเมื่อ LDL-C ≥ 160 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 130 มก./ดล.

      - ถ้ามีความเสี่ยงระหว่าง ร้อยละ 10-20 จะเริ่มให้ยาเมื่อ LDL-C ≥ 130 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 130 มก./ดล.

      - ถ้ามีความเสี่ยงมากกว่าร้อยละ 20 จะเริ่มใช้ยาเมื่อ LDL-C ≥ 130 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 100 มก./ดล.
 

    ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าผู้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ได้แก่ 1. เบาหวาน, 2. โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากสมองขาดเลือด (ischemic stroke) เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่คอมีการอุดกั้น, 3. โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย, 4. หลอดเลือดแดงใหญ่โป่ง หรือ 5. ผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจใน 10 ปีจากการคำนวณ***  เกินกว่าร้อยละ 20) จะเริ่มให้ยาลดไขมันเมื่อ LDL-C ≥ 130 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 100 มก./ดล.
    ผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะเริ่มให้ยาลดไขมันเมื่อ LDL-C ≥ 100 มก./ดล. โดยมีเป้าหมายลดให้ต่ำกว่า 100 มก./ดล. กรณีมีโรคหัวใจขาดเลือดรุนแรงลดให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล.


หลังให้ยาลดไขมัน 6-12 สัปดาห์ แพทย์จะติดตามตรวจหาระดับไขมันในเลือด และตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือน พร้อมทั้งเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยา และตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) เป็นครั้งคราว
 

*กลุ่มอาการเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ประกอบด้วย ภาวะเสี่ยงอย่างน้อย 3 ข้อ จาก 5 ข้อต่อไปนี้
1. ความดันโลหิตช่วงบน ≥ 130 มม.ปรอท และ/หรือความดันโลหิตช่วงล่าง ≥ 85 มม.ปรอท หรือกินยารักษาความดันโลหิตสูงอยู่
2. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FPG) ≥ 100 มก./ดล.
3. เส้นรอบเอว ≥ 90 ซม. ในผู้ชาย หรือ ≥ 80 ซม. ในผู้หญิง
4. ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ≥ 150 มก./ดล.
5. ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด < 40 มก./ดล. ในผู้ชาย หรือ < 50 มก./ดล. ในผู้หญิง

กลุ่มอาการเมตาบอลิก พบได้มากขึ้นตามอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี อาจพบมากถึงร้อยละ 40) และพบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (ดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ตร.ม. พบได้ประมาณร้อยละ 20 ≥ 30 กก./ตร.ม. พบได้มากกว่าร้อยละ 50)

ผู้ที่มีกลุ่มอาการเมตาบอลิกมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) ซึ่งอาจกลายเป็นตับอักเสบที่เรียกว่า “Non-aloholic steatohepatitis/NASH” ซึ่งในที่สุดอาจกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้

การรักษา ปรับพฤติกรรมแบบเดียวกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ยาควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่พบ

**ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑

*** มีวิธีคำนวณได้หลายสูตร สำหรับ "ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑" แนะนำให้ใช้สูตร Framingham Coronary Heart Disease Risk Score โดยคำนวณจากอายุ เพศ ประวัติการสูบบุหรี่ ค่าคอเลสเตอรอลรวม (total cholesterol) ค่าเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL) ค่าความดันโลหิตช่วงบน (systolic blood pressure) และประวัติการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (ดูวิธีคำนวณได้ที่นี่)


การดูแลตนเอง

ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราจัด หรือมีพ่อแม่พี่น้องเป็นไขมันในเลือดผิดปกติ หรือมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ถ้ายังไม่เคยตรวจระดับไขมันในเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับไขมันในเลือด

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไขมันในเลือดผิดปกติ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ (ดู “ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดผิดปกติ” ด้านล่าง)
    รักษา กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง รวมทั้งการใช้สมุนไพรและน้ำสมุนไพร เพราะอาจมีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบกับยาลดไขมันที่แพทย์ใช้รักษาอยู่ประจำ จนอาจเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้ หากจำเป็นต้องใช้ยานอกจากยาที่ใช้ประจำหรือเมื่อมีอาการไม่สบาย ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก หรือถ่ายปัสสาวะสีเข้มคล้ายสีน้ำปลาหรือโคล่า
    มีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้มคล้ายสีขมิ้น) อ่อนเพลีย ไข้สูง เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
    มีอาการอื่น ๆ ที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น เป็นต้น

ข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดผิดปกติ

1. ปรับพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร โดยควบคุมปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) จากไขมันเป็นร้อยละ 25-30 ของพลังงานทั้งหมด (โดยเป็นไขมันชนิดอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 7 ของพลังงานทั้งหมด และกินคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200-300 มก./วัน) พลังงานจากโปรตีนเป็นร้อยละ 12-15 ของพลังงานทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 55-65 เป็นพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต (ทางที่ดีควรเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น เมล็ดธัญพืช) ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

    งดหนังสัตว์ และเครื่องในสัตว์ทุกชนิด
    ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ (เช่น หมู วัว) และหันมากินโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เช่น เต้าหู้) แทนเป็นประจำ
    อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือกินได้เล็กน้อยเป็นครั้งคราว ได้แก่ อาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง เช่น หมูสามชั้น ขาหมู น้ำแกงต้มกระดูกหรือเนื้อสัตว์ ข้าวมันไก่ เป็ดย่าง แหนม แฮม หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง อาหารทะเล (หอยนางรม กุ้ง ปู ปลาหมึก)
    ถ้านิยมดื่มนม ควรใช้นมพร่องมันเนย
    บริโภคน้ำมันถั่วเหลือง วันละ 1.5-2.5 ช้อนโต๊ะ โดยใช้น้ำมันชนิดนี้ปรุงอาหารที่บ้าน เพราะจะมีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิดที่ช่วยลดระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด
    หลีกเลี่ยงการกินของทอดด้วยน้ำมันพืชซ้ำหลาย ๆ ครั้ง (เช่น มันฝรั่งทอด ปาท่องโก๋ เปาะเปี๊ยะ ทอดมัน) รวมทั้งอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีไขมันทรานส์ เช่น  เบเกอรี่ มาการีน เนยขาว (เนยเทียม) ครีมเทียม ขนมอบกรอบ เป็นต้น
    กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ ทุกมื้อ รวมทั้งเมล็ดธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ) ซึ่งมีเส้นใย (fiber) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด แต่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย
    กินรำข้าวโอ๊ต เมล็ดแมงลัก หรือสารเพิ่มกากใย
    กินกระเทียมสดวันละ 1-2 หัวใหญ่ (สับโรยกินกับข้าว หรือผสมในน้ำจิ้มก็ได้) มีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด
    ควรลดการบริโภคน้ำตาลและของหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

2. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง หรือวันเว้นวัน จะช่วยเพิ่มเอชดีแอลคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอลคอเลสเตอรอล

3. ถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนักตัว

4. งดสูบบุหรี่

5. งดหรือลดดื่มแอลกอฮอล์ ในรายที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง ควรงดโดยเด็ดขาด

6. หาวิธีคลายเครียดด้วยการออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ สวดมนต์ ทำงานอดิเรก เป็นต้น ความเครียดเป็นปัจจัยเสริมทำให้ไขมันในเลือดสูงในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง

7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาปิดกั้นบีตา ยาเม็ดคุมกำเนิด สเตียรอยด์ เป็นต้น หากจำเป็น ควรให้แพทย์พิจารณา

การป้องกัน

    ลดการกินอาหารพวกไขมันชนิดอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง และงดกินไขมันทรานส์
    ลดการกินน้ำตาล ของหวาน ผลไม้รสหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
    กินผักผลไม้และเมล็ดธัญพืชให้มาก ๆ
    ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
    หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด
    ไม่สูบบุหรี่
    ออกกำลังกายเป็นประจำ

ข้อแนะนำ

1. ไขมันในเลือดผิดปกติ (dyslipidemia) ที่สำคัญมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ (1) ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (2) แอลดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันชนิดร้าย) สูง (3) เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันชนิดดี) ต่ำ

คำว่า "ไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia)" ทางแพทย์นั้นหมายถึงแบบที่ (1) และ (2) เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงแบบที่ (3) เนื่องเพราะเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (ไขมันชนิดดี) สูงนั้นมีผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งตรงกันข้ามกับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ ซึ่งถือว่าผิดปกติ เพราะมีผลเสียต่อสุขภาพ

แต่เนื่องจากโดยทั่วไปพบแบบที่ (1) และ (2) บ่อย จึงนิยมใช้คำว่า "ไขมันในเลือดสูง" จนคุ้นปาก และเป็นที่เข้าใจกันว่า "ไขมันในเลือดสูง" มีความหมายเดียวกับ "ไขมันในเลือดผิดปกติ" ซึ่งหมายรวมถึงความผิดปกติทั้ง 3 แบบ

ดังนั้น เมื่อตรวจพบว่ามี "ไขมันในเลือดสูง" ต้องแยกแยะให้ออกว่า เป็นไขมันในเลือดผิดปกติแบบใด เป็นชนิดไม่ดี (แอลดีแอลคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์) ที่สูง หรือ ชนิดดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) ที่ต่ำ หากไขมันชนิดดีสูง ไม่นับว่าเป็นโรคไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ

2. เนื่องจากภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มักไม่มีอาการแสดงเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ามีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ก็ควรตรวจเช็กไขมันในเลือดตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปทุก 5 ปี

ในการตรวจเช็กไขมันในเลือด ควรอดอาหาร (ยกเว้นน้ำเปล่า) อย่างน้อย 12 ชั่วโมง และในระยะ 3 สัปดาห์ก่อนตรวจ ควรมีน้ำหนักตัวคงที่ บริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และทำกิจวัตรประจำวันตามปกติที่เคยทำ ทั้งนี้จะได้พบว่า พฤติกรรมที่เป็นนิสัยปกตินั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดหรือยัง

ถ้าผลเลือดปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี ส่วนผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจทุก 5 ปี

3. แม้ว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ แต่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติหรือผอม หากมีปัจจัยเสี่ยงก็อาจมีภาวะดังกล่าวได้ หากไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค ก็อาจเกี่ยวเนื่องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมาก

4. ผู้ที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมระดับไขมันให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการเมตาบอลิก) ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

5. การรักษาโรคนี้จำเป็นต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมเป็นพื้นฐาน หากไม่ได้ผลก็ควรใช้ยาลดไขมันควบคู่กันไป โดยแพทย์จะทำการเลือกใช้ยาและปรับขนาดของยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย

โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน (ได้แก่ ซิมวาสแตติน) เป็นอันดับแรก ถ้ามีผลข้างเคียงหรือไม่ได้ผล แพทย์จะเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นในกลุ่มสแตติน (เช่น อะทอร์วาสแตติน) และ/หรือเพิ่มยาลดไขมันกลุ่มอื่น (เช่น กรดนิโคตินิก, คอเลสไทรามีน, ยากลุ่มไฟเบรต เป็นต้น )

6. ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มสแตติน ได้แก่ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออักเสบ หรือมีระดับเอนไซม์ตับในเลือดสูง (ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นตับอักเสบ) 

ที่ร้ายแรง คือ ถ้าใช้ร่วมกับยาอื่น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง และปัสสาวะเป็นสีน้ำปลาหรือโคล่า) ซึ่งทำให้ไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะอันตรายร้ายแรงได้ 

การใช้ยาซิมวาสแตตินจึงมีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมัน-เจมไฟโบรซิล (gemfibrocil), อีริโทรไมซิน, คลาริโทรไมซิน, ไอทราโคนาโซล, คีโทโคนาโซล, ไซโคสปอริน, ยาต้านไวรัสกลุ่ม protease inhibitors เป็นต้น