head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ (Peptic perforation  (อ่าน 203 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 419
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ (Peptic perforation)

พบในผู้ป่วยแผลเพ็ปติกที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษาอย่างจริงจัง จนแผลค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู

สาเหตุ

มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลเพ็ปติกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องตรงใต้ลิ้นปี่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาชุด) ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อนและปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ (มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยา ฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการปวดมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่ง ๆ หากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น บางรายอาจมีการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม


ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และโลหิตเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงตายได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มีอาการกดเจ็บ (tenderness) กดปล่อยแล้วกดเจ็บ (rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่

ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติ หรือแทบไม่ได้ยินเลย

ชีพจรมากกว่า 120 ครั้ง/นาที

บางรายอาจมีอาการช็อก หรือกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ความดันต่ำ

บางรายอาจมีไข้ขึ้น

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเอกซเรย์ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษาโดยแพทย์

หากสงสัยแพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และทำการผ่าตัดอย่างฉุกเฉิน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หน้าท้องกดเจ็บหรือเกร็งแข็ง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการซื้อกินยาแก้ปวด หรือยาแก้ปวดข้อมากินเองเป็นประจำ

2. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดหรือดื่มเป็นประจำ

3. หากตรวจพบว่าเป็นโรคแผลเพ็ปติก ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง


ข้อแนะนำ

โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากสงสัย (เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด่วน และรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น