head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ตาปลา (Corn) - หนังหนาด้าน (Callus)  (อ่าน 204 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 425
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ตาปลา (Corn) - หนังหนาด้าน (Callus)
« เมื่อ: วันที่ 26 สิงหาคม 2024, 19:29:25 น. »
หมอประจำบ้าน: ตาปลา (Corn) - หนังหนาด้าน (Callus)

ตาปลาและหนังหนาด้าน หมายถึง ผิวหนังที่ด้านหนาขึ้นเนื่องจากแรงกดหรือแรงเสียดสีนาน ๆ มักเกิดตรงบริเวณที่มีปมกระดูกนูน ที่บริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป และส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด

สาเหตุ

สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ การใส่รองเท้าคับแน่นหรือหลวมไม่เหมาะกับเท้า การเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม หรือการใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้านาน ๆ จึงเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง ๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา

ผู้ที่มีนิ้วเท้าผิดปกติ เช่น นิ้วเท้างุ้ม (ดังที่เรียกว่า hammer toe ซึ่งเกิดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะกับเท้านานเป็นแรมปี) มีความเสี่ยงต่อการเกิดตาปลาที่นิ้วเท้า ส่วนผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าแบน (flat foot) เป็นต้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดหนังหนาด้าน


อาการ

ตาปลา ผิวหนังด้านหนาเป็นไตแข็ง บางครั้งพบมีการอักเสบแดงของผิวหนังโดยรอบ มักพบที่ด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย

หนังหนาด้าน ผิวหนังมีลักษณะหนาและด้านกว่าปกติ มีขนาดใหญ่กว่าตาปลา อาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว มักพบที่ส้นเท้าและฝ่าเท้าส่วนที่เชื่อมต่อกับนิ้วเท้า บางครั้งอาจเกิดตาปลา (ไตแข็ง) อยู่ตรงกลาง

ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคัน แต่ถ้าเป็นตาปลาขนาดใหญ่อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาใส่รองเท้า


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าปล่อยไว้ ตาปลาอาจเกิดการอักเสบเป็นแผลและติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงเป็นอันตรายได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบเป็นหลัก

หากสงสัยเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่น (เช่น หูด ซิสต์) อาจทำการตรวจเพิ่มเติม (เช่น การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หรือสงสัยมีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ อาจทำการเอกซเรย์ดูกระดูกเท้า


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. แนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือบีบแน่นเกินไป และใช้ฟองน้ำรองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านไว้เวลาใส่รองเท้า เพื่อลดแรงเสียดสีในรายที่เป็นไม่มาก มักจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายในเวลาหลายสัปดาห์

2. ใช้ปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกชนิด 40% ปิดส่วนที่เป็นรอยโรค ซึ่งจะค่อย ๆ ลอกตาปลาออกไป หรือใช้ยากัดตาปลาหรือหูด ซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสม

ก่อนทายา ให้แช่รอยโรคด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ในอ่าง หรือใช้ขวดยาน้ำของเด็กใส่น้ำอุ่นจัด ๆ แล้วคว่ำลงไปที่รอยโรคนาน 20 นาที แล้วใช้ตะไบเล็บหรือผ้าขนหนูขัดบริเวณรอยโรค จะช่วยให้ผิวหนังที่เป็นขุย ๆ หลุดออกไป แล้วจึงทายา ทำวันละ 1-2 ครั้ง

เวลาทายา ระวังอย่าให้น้ำยาถูกผิวหนังปกติ

3. ถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่ มีอาการเจ็บปวดมาก ติดเชื้อรุนแรง หรือพบในผู้ที่เป็นนิ้วเท้างุ้ม หรือเป็นเบาหวาน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม และให้การรักษาภาวะที่พบร่วม เช่น แก้ไขอาการนิ้วเท้างุ้ม ควบคุมโรคเบาหวาน เป็นต้น

ส่วนรอยโรคที่มีขนาดใหญ่และหนา อาจใช้ใบมีดผ่าตัดผ่านผิวเนื้อรอยโรคที่ตายแล้วออกทีละน้อย

บางกรณีแพทย์อาจใช้อุปกรณ์หรือรองเท้าที่ทำขึ้นเฉพาะในการช่วยรักษา หรือผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของเท้า นิ้วเท้า หรือกระดูกเท้าที่ผิดปกติ

4. ถ้ามีการติดเชื้อให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน


การดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการเล็กน้อย และไม่มีอาการปวดหรืออักเสบ ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด

ควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับหรือบีบแน่นเกินไป และใช้ฟองน้ำรองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านไว้เวลาใส่รองเท้าเพื่อลดแรงเสียดสี

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดหรืออักเสบ
    รอยโรคมีขนาดโตขึ้น 
    นิ้วเท้างุ้ม หรือเป็นเบาหวาน
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง


การป้องกัน

ลดแรงกดและแรงเสียดสีของเท้าและนิ้วเท้า โดยการใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และใช้ฟองน้ำบุหรือรองส่วนที่เกิดแรงกดหรือเสียดสี

ข้อแนะนำ

1. ถ้าไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดหรือจี้ด้วยไฟฟ้า จะทำให้เป็นแผลเป็น และรู้สึกเจ็บทุกครั้งที่ลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นที่บริเวณส้นเท้า

2. ห้ามผู้ป่วยใช้มีดหรือของมีคมฝานกันเอง อาจทำให้กลายเป็นแผลอักเสบและบวมเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

3. หนังหนาด้าน อาจพบที่ฝ่ามือหรือหัวเข่าบริเวณที่มีแรงเสียดสี เช่น การใช้มือจับอุปกรณ์ (เช่น จอบ เสียม มีด กรรไกร เป็นต้น) ในการทำงานเกิดแรงเสียดสีเป็นประจำ