head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: หลอดเลือดแดงขาตีบ (Peripheral artery disease/PAD)  (อ่าน 203 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 408
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: หลอดเลือดแดงขาตีบ (Peripheral artery disease/PAD)
« เมื่อ: วันที่ 16 สิงหาคม 2024, 17:06:45 น. »
Doctor At Home: หลอดเลือดแดงขาตีบ (Peripheral artery disease/PAD)

หลอดเลือดแดงขาตีบ (Peripheral artery disease/PAD)* ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)

โรคนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งพบได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน หรือผู้ที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้

นอกจากนั้นอาจพบในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน

มักพบร่วมกับโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะหลอดเลือดแดงตีบอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (องคชาตไม่แข็งตัว) เป็นต้น

*Peripheral artery disease/Peripheral arterial disease/PAD ซึ่งแปลว่า หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบนั้น หมายถึง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงแขนหรือขาเกิดการตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงแขนหรือขาไม่ได้
ภาวะนี้มักเกิดที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขา เรียกว่า "หลอดเลือดแดงขาตีบ"
ในบทนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง "หลอดเลือดแดงขาตีบ"


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจากการมีตะกรันไขมันเกาะที่ภายในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบลง เลือดไปเลี้ยงขาและปลายเท้าได้น้อยลง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงขาแข็งและตีบที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ได้แก่ อายุ (มากกว่า 50 ปี) ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ ภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ตร.ม.) ภาวะโฮโมซีสตีนในเลือดสูง (hyperhomocysteinemia) โรคไตเรื้อรัง มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (อัมพฤกษ์ อัมพาต)

โรคนี้ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การฉายรังสี การบาดเจ็บที่ขา การอักเสบของหลอดเลือดแดงขา (ซึ่งอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของ โรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ) เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นที่ขา เช่น กลุ่มอาการหลอดเลือดแดงขาพับถูกกดทับ (popliteal entrapment syndrome) ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นกดทับถูกหลอดเลือดแดงที่บริเวณขาพับ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างน้อย และพบได้ในคนอายุน้อยหรือวัยหนุ่มสาว


อาการ

ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงขาตีบในระยะแรกอาจไม่มีอาการ ซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจเช็กสุขภาพจากแพทย์

ผู้ป่วยจะแสดงอาการเมื่อมีการตีบของหลอดเลือด เกินร้อยละ 50

อาการเริ่มแรกที่พบบ่อย คือ ขาข้างที่ผิดปกติมีอาการปวดเวลาเดินไปได้สักพักหนึ่ง หรือเวลาเดินขึ้นบันได มักมีอาการปวดหน่วง ๆ ที่น่อง บางคนอาจปวดที่ต้นขาหรือสะโพกร่วมด้วย (ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งที่ตีบตันของหลอดเลือด) อาการอาจเกิดที่ขาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้

อาการปวดจะทุเลาได้เองเมื่อผู้ป่วยหยุดพักการเดินสัก 2-3 นาที แต่เมื่อเดินต่อสักพักก็จะกำเริบอีก หากยังฝืนเดินต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะปวดมากขึ้น จนอาจเดินขาลาก ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดเดิน

ทั้งนี้เนื่องจากการเดิน กล้ามเนื้อขาต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นจากขณะพัก (ไม่ได้เดิน) แต่เพราะหลอดเลือดแดงขาตีบ เลือดจึงไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาได้พอกับความต้องการ เราเรียกอาการปวดขาในลักษณะนี้ว่า "อาการปวดขาเป็นระยะเพราะขาดเลือด (intermittent claudication)"

บางคนอาจไม่มีอาการปวดขาเป็นระยะดังกล่าว แต่อาจมีเพียงอาการหนักขา ขาไม่มีแรงหรือขาอ่อน ทำให้คิดว่าเป็นเพียงอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเดิน หรือจากอายุที่มากขึ้น

บางรายอาจมีอาการเป็นตะคริวที่น่องบ่อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นแม้แต่ในช่วงเข้านอนตอนกลางคืน

เมื่อหลอดเลือดแดงขาตีบมากขึ้น ก็จะมีอาการปวดขามากขึ้น เดินได้ระยะสั้นกว่าเดิมก็จะมีอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยเดินได้ช้าลง หรือเดินไกลไม่ได้ มีผลทำให้ดำเนินชีวิตได้ไม่ปกติ หรือเล่นกีฬาที่ต้องเดินไม่ได้

หากปล่อยไว้จนมีการตีบของหลอดเลือดที่รุนแรง ก็จะมีอาการปวดขา แม้อยู่เฉย ๆ หรือเวลานอนราบหรือยกเท้าสูง อาจเป็นมากถึงขั้นนอนไม่หลับ

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ ขาข้างที่เป็นมีอาการชาหรืออ่อนแรง ซีดกว่าปกติ หรือมีสีผิวเปลี่ยนไป คลำดูขาข้างที่เป็นรู้สึกเย็นกว่าปกติ ผิวหนังที่บริเวณขาดูมันวาวกว่าปกติ ขนและเล็บงอกช้ากว่าขาข้างที่ปกติ เกิดแผลที่ปลายเท้าเรื้อรังและหายยาก กล้ามเนื้อขาลีบลงกว่าปกติ ชีพจรที่ขาและเท้าของขาข้างที่เป็นคลำได้เบาหรือไม่ได้

ผู้ชายบางคนอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (องคชาตไม่แข็งตัว) ร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ การเป็นแผลเรื้อรังที่ขา อาจเกิดการติดเชื้อ และกลายเป็นเนื้อตายเน่า (gangrene) ซึ่งอาจจำเป็นต้องตัดนิ้วเท้าหรือข้อเท้า เกิดความพิการได้ มักพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รักษาอย่างจริงจัง

ผู้ป่วยมักมีภาวะหลอดเลือดแดงตีบที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย หากปล่อยไว้ก็อาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ที่สำคัญ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (พบได้ประมาณร้อยละ 30-50 ของผู้ที่เป็นหลอดเลือดแดงขาตีบ) โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้ประมาณร้อยละ 15-25 ของผู้ที่เป็นหลอดเลือดแดงขาตีบ) หลอดเลือดแดงไตตีบ (renal artery stenosis) ไตวายเรื้อรัง

ในรายที่มีการตีบของหลอดเลือดแดงขาที่รุนแรง อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงขาแทรกซ้อนอย่างเฉียบพลัน ทำให้ขาเกิดภาวะขาดเลือดอย่างรุนแรง เกิดภาวะที่เรียกว่า "Acute limb ischemia (ALI)" ขาข้างที่เป็นจะมีอาการปวด (ขณะพักอยู่เฉย ๆ) ซีด เย็น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และชีพจรเบา ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และมีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการจากการตัดขา หรือการเสียชีวิต


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ การคลำชีพจรที่เท้าพบว่าเบาหรือคลำไม่ได้ เท้าซีดและเย็นกว่าปกติ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อขาลีบลงกว่าปกติ แผลเรื้อรังที่เท้า

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจพิเศษ เช่น ทำการทดสอบด้วยการวัดความดันโลหิตที่เท้าเทียบกับที่ต้นแขน ดังที่เรียกว่า "Ankle-Brachial Index (ABI) Test" ซึ่งมักพบว่าความดันโลหิตที่เท้ามีค่าต่ำกว่าที่ต้นแขน (ค่า ABI < 0.90) มีค่ายิ่งต่ำ แสดงว่าโรคยิ่งรุนแรง, การตรวจวัดการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดแดงขาด้วยอัลตราซาวนด์ (Doppler ultrasound), การถ่ายภาพหลอดเลือด (angiography) ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, การตรวจเลือด (ดูระดับน้ำตาล ไขมัน) เป็นต้น

ในรายที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง), ให้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, โคลพิโดเกรล (clopidogrel) ป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มอุดตันหลอดเลือด, ให้ยาเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงขา (เช่น cilostazol ลดอาการปวดขาเป็นระยะเพราะขาดเลือด ช่วยให้เดินได้ระยะไกลขึ้น) เป็นต้น

นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม เช่น งดบุหรี่, ลดอาหารหวาน มัน เค็ม, ลดน้ำหนัก, ผ่อนคลายความเครียด, ออกกำลังกาย

แพทย์อาจแนะนำให้ออกกำลังด้วยการเดินวันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน เดินด้วยความเร็วตามปกติ เมื่อสังเกตว่าเริ่มมีอาการปวดขาให้หยุดเดิน เมื่อรู้สึกทุเลาปวดให้เดินต่อ เดิน ๆ หยุด ๆ สลับกันจนครบ 30-45 นาที การเดินช่วยให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงขาได้มากขึ้น ทำให้เดินได้ไกลขึ้น

หากการรักษาข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดบายพาส (โดยใช้หลอดดำของผู้ป่วยเอง หรือหลอดเลือดเทียม), การทำบัลลูนและใส่หลอดเลือดตาข่าย (stent) ค้ำยันภายในหลอดเลือด, การฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าไปในหลอดเลือดตรงจุดที่มีลิ่มเลือดอุดตัน

ผลการรักษา หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก่อนมีอาการแสดง และไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง มักได้ผลดี

แต่ถ้าได้รับการรักษาในระยะที่มีอาการ ผลการรักษาขึ้นกับสภาพของผู้ป่วย ในรายที่มีหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบร่วมด้วย ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการหรือการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดขาเวลาเดินหรือขึ้นบันได เป็นตะคริวที่น่องบ่อย ปวดขาตอนนอนราบหรือตอนกลางคืน ขามีลักษณะซีด เย็น กล้ามเนื้อขาลีบหรืออ่อนแรง หรือคลำชีพจรที่เท้ามีลักษณะเบาหรือคลำไม่ได้ มีแผลเรื้อรังที่ขา เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

นอกจากนี้ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ดังนั้น ผู้ที่สบายดี ไม่มีอาการปวดขาและอาการอื่นใด ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจกรองโรคนี้ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

    มีอายุมากกว่า 65 ปี
    มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งป่วยเป็นเบาหวาน หรือสูบบุหรี่
    มีอายุน้อยกว่า 50  ปี ซึ่งป่วยเป็นเบาหวาน และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

ข้อปฏิบัติตัว ที่สำคัญ ได้แก่ 

    งดบุหรี่
    ลดอาหารหวาน มัน เค็ม กินผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว เต้าหู้ ปลาให้มาก ๆ
    ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน
    ผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกาย ด้วยการเดินให้มาก ๆ ตามวิธีที่แพทย์แนะนำ วันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การรักษา" ด้านบน)
    หมั่นดูแลเท้าไม่ไห้เกิดแผล (เช่น ระมัดระวังในการตัดเล็บ สวมใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า ระวังไม่ให้ถูกของมีคมบาด) เพราะหายยากเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
    หลีกเลียงการซื้อยามาใช้เอง เนื่องเพราะยาบางชนิด เช่น กลุ่มสูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) ซึ่งนิยมใช้รักษาโรคหวัด คัดจมูก โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ อาจทำให้หลอดเลือดตีบมากขึ้น ปวดขามากขึ้นได้


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดขามากขึ้น
    ขามีลักษณะซีด เย็น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา หรือเป็นแผลเรื้อรัง
    มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือแขนขาซีกหนึ่งมีอาการชาหรืออ่อนแรง
    ขาดยาหรือยาหาย
    สงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์ให้กิน เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ใจสั่น ท้องเดิน เป็นต้น
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

    ไม่สูบบุหรี่
    รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
    ลดอาหารมัน หวาน เค็ม กินผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว เต้าหู้ ปลาให้มาก ๆ
    ถ้าเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรดูแลรักษาให้สามารถควบคุมโรคได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ข้อแนะนำ

1. ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบจะรู้สึกสบายดี ไม่มีอาการปวดขาและอาการผิดปกติอื่นใด จะมีอาการปวดขาเมื่อหลอดเลือดตีบมากแล้ว และอาจมีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบแฝงอยู่ร่วมด้วย (โดยไม่มีอาการ) ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบ ถึงแม้สบายดีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจกรองโรค และรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ

2. โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "สาเหตุ" ด้านบน) ที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ การสูบบุหรี่ การมีอายุมาก ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และป่วยเป็นโรคเบาหวาน ร่วมกับการสูบบุหรี่ หรือความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น ดังนั้น ควรป้องกันการเกิดโรคนี้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "การป้องกัน" ด้านบน)

3. โรคนี้มีความรุนแรงค่อนข้างมาก เนื่องเพราะมักตรวจพบเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดขาแล้ว และขามักมีภาวะขาดเลือดเรื้อรังมานาน มักทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน ถึงขั้นต้องตัดขา นอกจากนี้ อาจพบโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของความพิการหรือการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

4. ผู้ที่มีอาการปวดขาหรือเป็นตะคริวบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง อย่าชะล่าใจว่าเป็นเพียงอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือไม่เป็นอะไรมาก แต่ควรไปปรึกษาแพทย์เพี่อตรวจให้แน่ใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบหรือไม่