head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)  (อ่าน 188 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 418
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)
« เมื่อ: วันที่ 7 สิงหาคม 2024, 22:47:52 น. »
Doctor At Home: โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)

โรคกรดไหลย้อน (น้ำย่อยไหลกลับ เกิร์ด ก็เรียก) หมายถึงภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นไประคายเคืองต่อหลอดอาหารและลำคอ

พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย พบมากในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็กเล็กและคนหนุ่มสาวได้

สาเหตุ

เกิดจากภาวะหย่อนสมรรถภาพของหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร (lower esophageal sphincter)* ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนนี้ปิดไม่สนิท เปิดช่องให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร น้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดก็จะระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหาร เกิดอาการของโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

บางรายอาจมีกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนผิดปกติร่วมด้วย (เรียกว่า "Laryngopharyngeal Reflux/LPR") เปิดช่องให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่ลำคอ กล่องเสียง หลอดลม รวมทั้งอาจไปที่จมูก โพรงไซนัส และช่องหู ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุของอวัยวะเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการไม่สบายเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวหย่อนสมมรรถภาพยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือหูรูดยังเจริญได้ไม่เต็มที่ (ในทารก) หรือมีความผิดปกติโดยกำเนิด

พบว่ามีปัจจัยหลายประการที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น

    การกินอิ่มมากไป กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก
    การนอนราบ การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำทำให้น้ำย่อยไหลย้อนง่ายขึ้น
    ภาวะอ้วน การตั้งครรภ์ การรัดเข็มขัดแน่นหรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อน
    การดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (ชา กาแฟ ยาชูกำลังเข้าสารกาเฟอีน) นอกจากกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งมากแล้ว ยังเสริมให้หูรูดหย่อนคลายอีกด้วย
    การสูบบุหรี่ การกินอาหารมัน อาหารผัดหรือทอดอมน้ำมัน อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลตหรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดหย่อนคลายหรือน้ำย่อยหลั่งมากขึ้น
    การมีไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia/diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ จะทำให้หูรูดอ่อนแอมากยิ่งขึ้น
    โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องจึงเกิดภาวะกรดไหลย้อน รวมทั้งการใช้ยาขยายหลอดลมก็มีส่วนทำให้หูรูดหย่อน
    เบาหวาน เมื่อเป็นนาน ๆ มีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงมีกรดไหลย้อนได้
    แผลเพ็ปติก แผลหรือรอยแผลเป็นที่ปลายกระเพาะอาหาร การใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น หรือยาแอนติโคลิเนอร์จิก ทำให้อาหารขับเคลื่อนสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้

*ขณะกลืนอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารจะหย่อนคลายเพื่อเปิดให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้ว หูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร ทำอันตรายต่อเยื่อบุหลอดอาหารได้

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก (heartburn) หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัวโค้งตัวลงต่ำ มีการรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดนานประมาณ 2 ชั่วโมง

บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย คล้ายโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือมีอาการจุกแน่นยอดอกคล้ายอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ หรือเรอบ่อย

บางรายอาจมีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดี  หรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น

ในรายที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง กล่าวคือ ไหลขึ้นไปถึงปากและคอหอย อาจมีอาการกระแอมไอบ่อยหรือรู้สึกมีเสมหะอยู่ในคอหรือระคายคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารหรืออยู่ในท่านอนราบ

บางรายตอนตื่นนอนอาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปากอาจมีเสียงแหบ (เนื่องจากน้ำย่อยระคายจนกล่องเสียงอักเสบ) เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอเรื้อรัง (น้ำย่อยระคายคอหอยและหลอดลม) ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์เนื่องอาการเหล่านี้แบบเรื้อรัง

บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการกลืนอาหารแข็งลำบาก เนื่องจากปล่อยให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังจนตีบตัน

ส่วนในรายที่มีภาวะกรดไหลย้อนเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็นก็ได้

สำหรับเด็กที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการอาเจียนบ่อย ไอตอนกลางคืนบ่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ขึ้น


ภาวะแทรกซ้อน

หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนาน ๆ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยก็คือ หลอดอาหารอักเสบ (esophagitis) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร

หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นแผลหลอดอาหาร (esophageal ulcer) ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ

ในที่สุดอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ (esophageal stricture) ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกลายเป็น หลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrett’s esophagus) ซึ่งสามารถวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องลงไปที่หลอดอาหารและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์  ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ประมาณร้อยละ 2-5 ซึ่งจะมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย น้ำหนักลด

ในรายที่มีกรดไหลย้อนถึงช่องปาก คอหอย จมูก หู และหลอดลม ก็อาจทำให้ฟันสึกกร่อน (จากการกัดของน้ำย่อยเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการเสียวฟัน ฟันผุ) เป็นหวัด (คัดจมูก จาม) เรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คออักเสบ (เจ็บคอเรื้อรัง) หลอดลมอักเสบ (ไอเรื้อรัง) กล่องเสียงอักเสบ (เสียงแหบเรื้อรัง ตรวจพบสายเสียงบวมแดง) หูอักเสบ (มีเสียงดังในหู หูอื้อ หรือปวดหู เรื้อรัง) ปอดอักเสบบ่อย โรคหืดกำเริบบ่อย เนื่องจากน้ำย่อยไหลเข้าไประคายเคืองต่อหลอดลม และบางรายอาจกลายเป็นมะเร็งกล่องเสียง

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบจากการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด (aspiration pneumonia) ซึ่งพบบ่อยในทารกอายุ 1-4 เดือน*

*ทารกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อนตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ มักมีอาการร้องกวน งอแง อาเจียนบ่อย ไอบ่อยตอนกลางคืน เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงวี้ด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวไม่ขึ้น บางรายอาจสำลักน้ำย่อยเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งอาจกำเริบได้บ่อย อาการมักจะหายเมื่ออายุ 6-12 เดือน แต่บางรายอาจรอจนถึงเข้าสู่วัยรุ่น จึงจะดีขึ้น ในเด็กโตมักมีอาการคล้ายที่พบในผู้ใหญ่


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ

ส่วนการตรวจร่างกายทั่วไปมักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (esophago-gastro-duodenoscopy) เพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น (เช่น แผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร) บางรายแพทย์อาจทำการตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหารและคอหอยส่วนล่าง (ambulatory 24-hour double–probe pH monitoring)

สำหรับโรคกรดไหลย้อน การส่องกล้องอาจตรวจพบร่องรอยการอักเสบของหลอดอาหาร แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารบาร์เรตต์ ถ้าเป็นในระยะแรกเริ่มก็อาจตรวจไม่พบรอยโรคที่หลอดอาหารก็ได้

ส่วนผู้ที่ไปพบแพทย์ ด้วยอาการเสียงแหบ เจ็บคอ ไอ เป็นหวัด ไซนัสอักเสบ หรือปวดหู หูอื้อ แพทย์อาจวินิจฉัยโรคนี้จากการใช้เครื่องมือส่องตรวจอวัยวะเหล่านี้

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าเริ่มมีอาการในระยะแรก แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (เช่น โอเมพราโซล, แพนโทพราโซล, แลนโซพราโซล, ราบีพราโซล เป็นต้น) นาน 2 สัปดาห์ ถ้าดีขึ้นให้กินต่อจนครบ 3 เดือน

2. ถ้ากินยาดังกล่าวนาน 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มีอาการเสียงแหบ เจ็บคอหรือไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิด ปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น เจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก หายใจลำบาก อาเจียน ซีด ตาเหลือง น้ำหนักลด คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายอุจจาระดำ เจ็บหน้าอกรุนแรง เป็นต้น) หรือพบในทารกที่มีอาการอาเจียนบ่อย ไอบ่อย หรือน้ำหนักตัวไม่ขึ้น ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติม (เช่น การส่องกล้อง) เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด

ถ้าพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย และให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ นาน 3-6 เดือน

โรคนี้มักจะมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีพฤติกรรมทำให้โรคกำเริบ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ ถ้าอาการกำเริบ ก็ควรให้ยากินเป็นครั้งคราวไปเรื่อย ๆ

ในรายที่กินยาไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบรุนแรง หลอดอาหารตีบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบบ่อย หรือมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่ ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม (ผูก) หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารด้วยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง (laparoscopic fundoplication)

บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธี "Radiofrequency therapy" โดยการใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุทำลายเนื้อเยื่อตรงส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งให้หูรูดหดแน่น ช่วยให้อาการทุเลาได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอกก่อนหรือหลังกินอาหาร มีอาการปวดแสบหรือจุกแน่นยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย หรือมีอาการเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวขึ้นไปที่คอหอย เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. ดูแลรักษาและกินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

2. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้

    ลดน้ำหนักตัว (ถ้าน้ำหนักเกิน)
    สังเกตว่าบริโภคสิ่งใดบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน (รวมทั้งข้าวผัดของผัดที่อมน้ำมัน) อาหารเผ็ดจัด แอลกอฮอล์ บุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ ช็อกโกแลต หัวหอม กระเทียม สะระแหน่ ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท)
    หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมากและการดื่มน้ำมาก ๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นปริมาณน้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
    หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบ หรือนั่งงอโค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง ยืน หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกาย
    หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เนื่องเพราะความเครียด มีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น อาจทำให้อาการกำเริบได้
    ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูงหรือใช้อุปกรณ์พิเศษสอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงนอนที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหนุนหมอนให้สูง (อาจทำให้ท้องโค้งงอความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น)

4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกรุนแรง ปวดท้องมาก อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ซีด ตาเหลือง คลำได้ก้อนในท้อง กินยารักษา 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการผิดสังเกตที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินหรือท้องผูก เป็นต้น)


การป้องกัน

1. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน

2. หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด

3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก หรือ อิ่มจัด ควรกินอาหารมื้อเย็นปริมาณน้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

4. หลังกินอาหาร ห้ามนอนราบ นั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำ

5. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารมัน ของทอด ของเปรี้ยวจัด ของเผ็ดจัด สุรา ยาสูบ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม หัวหอม กระเทียม สะระแหน่

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรติดตามการรักษากับแพทย์เป็นประจำ ที่สำคัญผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะช่วยให้อาการกำเริบน้อยลงและลดการใช้ยาลงได้

2. แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังน่ารำคาญ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถ้ารู้จักปฏิบัติตัวและคอยใช้ยาควบคุมอาการ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยบางรายก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ เช่น หลอดอาหารตีบ มะเร็งหลอดอาหาร

3. มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีมากกว่าวัยที่ต่ำกว่า 40 ปี) อาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia หรือ "โรคกระเพาะ") หรือกรดไหลย้อน และอาการสามารถทุเลาด้วยยาต้านกรดและยาลดการสร้างกรด แต่ต่อมาเมื่อแผลมะเร็งลุกลามมากขึ้น การใช้ยาจะไม่ได้ผล และจะมีอาการน้ำหนักลด อาเจียน หรือถ่ายดำตามมาได้ ดังนั้น หากรักษา "โรคกระเพาะ" โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น มีอาการกำเริบบ่อย หรือพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ให้ทำการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้องหรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้) เพื่อแยกแยะสาเหตุให้แน่ชัด หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งได้ผลดีกว่าพบในระยะลุกลามแล้ว