head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)  (อ่าน 182 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 402
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)
« เมื่อ: วันที่ 2 สิงหาคม 2024, 11:50:16 น. »
หมอออนไลน์: ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)

เป็นการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตเป็นก้อนและเจ็บ


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตค็อกคัส และสแตฟีโลค็อกคัส ซึ่งลุกลามมาจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนังในบริเวณใกล้เคียง เช่น บาดแผลอักเสบ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

อาการ

ในรายที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโตและเจ็บ มักพบอาการอักเสบของผิวหนังหรืออวัยวะในบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) อักเสบ มักจะเป็นผลมาจากการอักเสบในบริเวณเท้า หรือต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางอักเสบ มักเป็นผลมาจากทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

ถ้ามีอาการอักเสบของท่อน้ำเหลืองร่วมด้วย ก็จะพบเป็นรอยแดงเป็นเส้นยาววิ่งจากบริเวณผิวหนังที่อักเสบไปจนถึงต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบ

ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ร่วมด้วย

ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองจะมีอาการบวมโตเล็กน้อย (ขนาดไม่เกิน 1 ซม.) ลักษณะค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ และจับโยกไปมาได้ ไม่ยึดติดกับผิวหนังหรือเนื้อเยื่อข้างใต้ มักพบที่บริเวณใต้คาง (ซึ่งเป็นผลมาจากฟันผุหรือเจ็บคอบ่อย) และขาหนีบ (เป็นผลจากการอักเสบที่เท้าบ่อย ๆ)

ต่อมน้ำเหลืองจะบวมโตคลำได้เป็นก้อนเล็ก ๆ นานเป็นแรมเดือนแรมปี หรือตลอดไป โดยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใด


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ

แนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ และยกแขนขาส่วนที่อักเสบให้สูง

ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด ยกเว้นให้การรักษาโรคติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียงที่เป็นต้นเหตุ เช่น แก้ไขปัญหาฟันผุหรือคออักเสบ เป็นต้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ก้อนโตขึ้น หรือมีอาการเจ็บมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ช่องปาก และผิวหนัง

ข้อแนะนำ

ถ้าพบอาการต่อมน้ำเหลืองโตขนาดเกิน 1 ซม. ลักษณะค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณคอ ไหปลาร้า รักแร้ อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และถ้าพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตในลักษณะเดียวกันที่บริเวณอื่นร่วมด้วย อาจเป็นอาการของโรคเอดส์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ