head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: โรคหูด (Warts)  (อ่าน 260 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 422
    • ดูรายละเอียด
โรคหูด (Warts)
« เมื่อ: วันที่ 29 สิงหาคม 2024, 19:41:32 น. »
โรคหูด (Warts)

หูด เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย (benign) ของผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แต่จะพบได้น้อยในคนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

หูดมีหลายชนิด อาจมีขนาดแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น อาจขึ้นเดี่ยว ๆ หรือหลายอันก็ได้ มักขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า อาจขึ้นตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ รวมทั้งที่อวัยวะเพศ

ส่วนมากจะยุบหายได้เองตามธรรมชาติ (แม้จะไม่ได้รับการรักษา) ภายหลังที่เป็นอยู่หลายเดือน บางรายอาจเป็นอยู่เป็นปี ๆ กว่าจะยุบหาย เมื่อหายแล้วอาจกลับเป็นใหม่ได้อีก

สำหรับหูดที่อวัยวะเพศขอแยกกล่าวไว้ใน "โรคหงอนไก่"


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอชพีวี (HPV ซึ่งย่อมาจาก human papilloma virus) ซึ่งมีมากกว่า 70 ชนิด เมื่อเชื้อไวรัสแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ผิวหนังก็จะเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหูดงอกออกจากผิวหนังส่วนที่ปกติ

หูดสามารถติดต่อโดยการสัมผัสถูกคนที่เป็นหูดโดยตรง ผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกจะติดเชื้อและกลายเป็นหูดได้ง่ายกว่าผิวที่ปกติ ระยะฟักตัว 2-18 เดือน


อาการ

หูดธรรมดา (common warts) จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลมแข็ง ผิวหยาบ ออกเป็นสีเทา ๆ เหลือง ๆ หรือน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มม. มักจะขึ้นตรงบริเวณที่ถูกเสียดสีง่าย (เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ เป็นต้น) และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

หูดที่เป็นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นไตแข็ง ๆ หยาบ ๆ แต่จะแบนราบเท่าระดับผิวหนังที่ปกติ เพราะมีแรงกดขณะเดินหรือใช้งาน ลักษณะคล้าย ๆ ตาปลา แต่จะแยกกันได้ตรงที่ถ้าใช้ใบมีดฝานหูดบริเวณผิวบน ๆ ของหูดจะเห็นมีจุดดำ ซึ่งเป็นจุดเลือดออกเก่า ๆ ที่แข็งตัวแล้ว

หูดที่เป็นติ่ง (filiform warts) จะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อแข็งยาวคล้ายนิ้วมือเล็ก ๆ ยื่นจากผิวหนัง มักขึ้นที่หนังตา ใบหน้า ลำคอ หรือริมฝีปาก


ภาวะแทรกซ้อน

หูดเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากทำให้แลดูน่าเกลียดน่ารำคาญ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นปมด้อย ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง   

              บางรายอาจมีอาการปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหูดที่ฝ่าเท้า เวลาเดินลงน้ำหนักแรง ๆ อาจทำให้ปวดเดินไม่ถนัดได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการตรวจพบรอยโรค และการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ


การรักษาโดยแพทย์

ในรายที่มีอาการเล็กน้อย จะให้สังเกตดูอาการ บางรายอาจหายเองได้ภายใน 2 ปี แต่ก็อาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีก

  ในรายที่มีอาการมาก รู้สึกรำคาญน่าเกลียด หรือเจ็บปวด แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. หูดที่ฝ่าเท้า ใช้ปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกชนิด 40% ปิด โดยฝานหูดจนมีเลือดซิบ แล้วใช้ปลาสเตอร์ดังกล่าวปิด พอครบ 1 สัปดาห์ก็ทำการฝานหูดซ้ำอีกครั้ง แล้วปิดปลาสเตอร์ต่อไป ทำเช่นนี้ทุกสัปดาห์จนกว่าจะหาย หรืออาจใช้ยากัดตาปลาหรือหูดซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสมทาที่ตัวหูดทุกวัน ยาจะค่อย ๆ กัดเนื้อหูดให้หลุดออก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

2. หูดที่เป็นติ่ง ให้พ่นด้วยยาชา แล้วใช้กรรไกรตัด หรือใช้ไฟฟ้าจี้และขูดออก (electrodessication)

3. หูดที่เป็นตุ่มหรือไตขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดและขูดออก (อาจใช้ไฟฟ้าจี้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) ซึ่งอาจใช้เวลา 4 สัปดาห์กว่าแผลจะหายดี หรือไม่ก็อาจรักษาโดยใช้กรดซาลิไซลิกชนิด 10% และกรดแล็กติกชนิด 10% ในคอลลอยเดียนเบสทา หรือทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก (trichloroacetic acid) ชนิด 30-50%

หรือใช้ไนโตรเจนเหลว (liquid nitrogen) หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (solid CO2) ในการรักษาหูด โดยจี้ทุก ๆ 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน หรือใช้แสงเลเซอร์หรือเครื่องจี้ไฟฟ้าในการรักษา

ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์อาจให้การรักษาโดยให้ผู้ป่วยกินไซเมทิดีนในขนาดสูง (30-40 มก./กก./วัน) ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยให้นาน 6-8 สัปดาห์ จะช่วยให้หูดยุบหายหมดได้ประมาณร้อยละ 60-70

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ผิวหนังมีตุ่มแข็งหรือมีติ่งเนื้อแข็งยื่นจากผิวหนัง หรือฝ่ามือฝ่าเท้ามีไตแข็ง ๆ หยาบ ๆ แต่แบนราบ ควรปรึกษาแพทย์

          เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหูด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    หลังการรักษาแล้วหากมีอาการปวด แสบ คัน พุเป็นตุ่มน้ำ หรือบวมที่บริเวณรอยโรคไม่ทุเลา ใน 1-2 สัปดาห์
    มีหูดเกิดขึ้นใหม่

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเนื้อหูดของผู้อื่น
    หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รองเท้า ถุงเท้า) ร่วมกับคนที่เป็นหูด
    ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อหูดไปบริเวณอื่นของร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือแกะเกาหูดของตัวเอง และเมื่อสัมผัสถูกหูดควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่เมื่อสัมผัสทันที
    หมั่นล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง และเปลี่ยนถุงเท้าที่ใส่ทุกวันเพื่อป้องกันหูดที่ฝ่าเท้า
    ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น ระมัดระวังการโกนหนวด หลีกเลี่ยงการกัดแทะเล็บเป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อหูดเข้าทางบาดแผล
    หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารครบ 5 หมู่ที่สมสัดส่วน  และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

ข้อแนะนำ

หูดเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสและทางเพศสัมพันธ์ ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ (ไม่มียาที่ทำลายเชื้อไวรัสกลุ่มนี้) ส่วนใหญ่มักเป็นไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 2 ปี แต่อาจเกิดขึ้นได้ใหม่ การรักษาสุขภาพให้มีภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงมีส่วนป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ การรักษามุ่งที่ทำลายเนื้อหูดให้หมดไปด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามสภาพของโรคที่เป็น และสภาพร่างกายของผู้ป่วย